ดัชนีหุ้นดาวโจนส์ปิดร่วงเฉียด 200 จุด

265
0
Share:

เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2565 (ตามเวลาในสหรัฐ) ดัชนีหุ้นดาวโจนส์ปิดที่ระดับ 30,981 จุด -192 จุด หรือ -0.62% ดัชนีหุ้นเอสแอนด์พี 500 ปิดที่ระดับ 3,818 จุด -35 จุด หรือ -0.92% และดัชนีหุ้นนาสแดค ปิดที่ระดับ 11,264 จุด -107 จุด หรือ -0.95%

สาเหตุจากเริ่มเข้าสู่ฤดูกาลประกาศผลประกอบการไตรมาสที่ 2 ของบริษัทในตลาดหุ้นนิวยอร์ค สหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นสิ่งที่นักลงทุนกังวลเนื่องจากไตรมาสที่ 2 เป็นช่วงภาวะการเริ่มปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นของธนาคารกลางสหรัฐอเมริกา ภาวะเงินเฟ้อพุ่งสูงในรอบ 40 ปี ดังนั้นจะส่งผลกระทบต่อผลประกอบการของบริษัท นอกจากนี้ ในวันพุธนี้ นักลงทุนรอติดตามการประกาศตัวเลขเงินเฟ้อทั่วไปเดือนมิถุนายน โดยคาดว่าจะเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากเดือนพฤษภาคมมาอยู่ที่ระดับ 8.8% ซึ่งจะกลายเป็นสถิติเงินเฟ้อสูงสุดในรอบ 47 ปี ทำให้เฟดต้องขึ้นดอกเบี้ยระยะสั้นมากถึง 0.75% เป็นครั้งที่ 2 ติดต่อกัน จากในปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นอยู่ที่ 1.5%-1.75%

ตลาดซื้อขายสัญญาน้ำมันดิบล่วงหน้า รายงานว่า ราคาน้ำมันดิบไนเม็กซ์ นิวยอร์ก สหรัฐ ปิดที่ 95.84 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล -8.25 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล หรือ -7.9% ทำสถิติราคาปิดต่ำสุดในรอบ 3 เดือน รวม 2 วันทำการติดกันทำให้ราคาน้ำมันดิบร่วงลง -8.95 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2565 มีราคาพุ่งขึ้นสูงสุดที่ 130.50 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล ทำสถิติราคาน้ำมันดิบไนเม็กซ์ที่สูงสุดนับตั้งแต่กันยายน 2008 หรือในรอบ 13 ปี 5 เดือน

ด้านราคาน้ำมันดิบเบร็นท์ อังกฤษ ทะเลเหนือ ปิดที่ 99.49 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล -7.61 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล หรือ -7.1% ทำสถิติราคาปิดต่ำสุดในรอบ 3 เดือนหรือนับตั้งแต่วันที่ 11 เมษายนเป็นต้นมา ก่อนหน้านี้ ราคาน้ำมันดิบเบร็นท์ อังกฤษ มีราคาสูงสุดนับตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2008 หรือในรอบ 13 ปี 7 เดือน โดยเมื่อคืนวันจันทร์ที่ 7 มีนาคม 2565 มีขึ้นมาสูงสุดระหว่างวันที่ระดับ 139.13 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล

ราคาน้ำมันดิบตลาดโลกทั้ง 2 แห่งดำดิ่งอย่างหนักถึง -27% และ -29% ตามลำดับ เมื่อเปรียบเทียบจากราคาสถิติสูงสุดเมื่อวันจันทร์ที่ 7 มีนาคมที่ผ่านมา ส่งผลเข้าสู่ภาวะตลาดหมี หรือ Bear Market สมบูรณ์แบบ

ก่อนหน้านี้ ราคาน้ำมันดิบเบร็นท์ อังกฤษ ทะเลเหนือ เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม ซึ่งถูกเทขายอย่างหนักมากถึง -10.73 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรลนั้น ทำสถิติส่วนต่างราคาน้ำมันดิบที่ตกต่ำมากที่สุดอันดับ 3 นับตั้งแต่ราคาน้ำมันดิบดังกล่าวเริ่มทำการซื้อขายครั้งแรกเมื่อปี 1988 หรือในรอบ 34 ปี ส่วนต่างราคาน้ำมันดิบที่ทำสถิติดำดิ่งมากที่สุดในรอบ 1 วัน คือ -16.84 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล เกิดขึ้นเมื่อเดือนมีนาคม

สาเหตุนักลงทุนกลับมากังวลกับมาตรการล็อกดาวน์ และจำกัดการใช้ชีวิตของจีนแผ่นดินใหญ่ครั้งใหม่ เมื่อพบการระบาดของโรคโควิด-19 ในหลายมณฑลและเมืองสำคัญที่คาดว่ากระทบประชาชนถึง 30 ล้านคน ทำให้ความต้องการใช้น้ำมันดิบจะลดลง นอกจากนี้ ดัชนีค่าเงินดอลลาร์สหรัฐเทียบกับ 6 สกุลสำคัญ พุ่งทะยานแตะ 108.56 ทำสถิติแข็งค่าในรอบใกล้ 20 ปีอย่างต่อเนื่อง หรือตั้งแต่ตุลาคม 2002 ความกังวลกับภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอย และกลุ่มโอเปกเปิดเผยรายงานความต้องการใช้น้ำมันดิบทั่วโลกในปี 2566 พบว่าเพิ่มขึ้นเล็กน้อยที่วันละ 2.7 ล้านบาร์เรล เมื่อเปรียบเทียบกับในปีนี้

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์น้ำมันดิบตึงตัวในตลาดโลกยังคงมีต่อเนื่อง สาเหตุจากปัจจัยศาลในรัสเซียมีคำตัดสินให้ แคสเปียน ไพป์ไลน์ คอมซอร์เตียม หรือ CPC ระงับการปฏิบัติการส่งออกน้ำมันดิบใน 30 วันจากนี้ไป ส่งผลให้ปริมาณน้ำมันดิบราว 1% ของตลาดโลกหดหายไปจากตลาด นอกจากนี้ รัฐบาลสหรัฐอเมริกาอาจประกาศมาตรการคว่ำบาตรเพิ่มเติมกับอิหร่าน

ราคาทองคำล่วงหน้านิวยอร์ก สหรัฐ ปิดที่ 1,723.80 ดอลลาร์สหรัฐ/ออนซ์ -13.20 ดอลลาร์สหรัฐ/ออนซ์ หรือ -0.46% ทำสถิติราคาปิดต่ำสุดในรอบ 9 เดือน ในสัปดาห์ผ่านไป ราคาทองคำร่วงลง -3.29% ทำสถิติราคาทองคำรายสัปดาห์ที่ตกต่ำที่สุดในรอบ 5 สัปดาห์ ก่อนหน้านี้ ราคาทองคำล่วงหน้ามีราคาสูงสุดระหว่างวันขึ้นไปถึง 2,072.50 ดอลลาร์สหรัฐ/ออนซ์ ทำสถิติสูงสุดนับตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2020 หรือในรอบ 18 เดือน

สาเหตุจาก ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐอเมริกายังคงปรับแข็งค่าขึ้นสูงสุดในรอบ 20 ปี สอดรับกับแนวโน้มที่อัตราดอกเบี้ยระยะสั้นในสหรัฐอเมริกาจะเร่งตัวมากขึ้นต่อเนื่อง หลังจากธนาคารกลางสหรัฐอเมริกาเปิดเผยบันทึกการประชุมของคณะกรรมการนโยบายการเงินในสัปดาห์ผ่านไป นอกจากนี้ ราคาทองคำตลาดโลกในทางเทคนิคหลุดระดับ 1,800 ดอลลาร์สหรัฐ/ออนซ์ต่อเนื่องตั้งแต่สัปดาห์ที่ผ่านไป