ดัชนีเชื่อมั่นผู้บริโภค ก.ค. ปรับลงครั้งแรกในรอบ 14 เดือน กังวลตั้งรัฐบาลฉุดหลายอย่าง

379
0
Share:
ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค ก.ค. ปรับลงครั้งแรกในรอบ 14 เดือน กังวลตั้งรัฐบาลฉุดหลายอย่าง

ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค เดือน ก.ค. 66 อยู่ที่ระดับ 55.6 ปรับตัวลดลงจากเดือน มิ.ย. ซึ่งอยู่ที่ระดับ 56.7 โดยเป็นการปรับตัวลดลงครั้งแรกในรอบ 14 เดือน

ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวมเดือน ก.ค. 66 อยู่ที่ระดับ 50.3 ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสในการหางาน อยู่ที่ 52.7 และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคต อยู่ที่ 63.9 โดยดัชนีทุกตัวปรับลดลงจากเดือนก่อนหน้า

ทั้งนี้สาเหตุจากความกังวลต่อความไม่แน่นอนในการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ และเสถียรภาพทางการเมืองในประเทศ, ผู้บริโภคกังวลว่าเศรษฐกิจยังฟื้นตัวได้ช้า และปัญหาหนี้ครัวเรือนที่ยังอยู่ในระดับสูง, คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีก 0.25% เป็น 2.25%, สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจปีนี้ ลงเหลือ 3.5% จากเดิม 3.6% จากผลของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าที่อาจจะกระทบต่อการส่งออกไทยในช่วงครึ่งปีหลัง, ความกังวลต่อภาวะภัยแล้ง และเอลนิโญ ตลอดจนสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนที่ยังมีความไม่แน่นอน

ส่วนปัจจัยที่ยังส่งผลดีคือ จำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มมากขึ้นหลังการเปิดประเทศ ทำให้มีเม็ดเงินหมุนเวียนในภูมิภาค และมีกิจกรรมทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น, ราคาพืชผลทางการเกษตรหลายรายการปรับตัวดีขึ้น ส่งผลให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น, ราคาน้ำมันดีเซลในประเทศยังทรงตัว, เงินบาทแข็งค่า สะท้อนว่ามีการไหลเข้าสุทธิของเงินตราต่างประเทศ

นายธนวรรธน์ พลวิชัย ประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในเดือนก.ค. ปรับตัวลดลงเป็นครั้งแรกในรอบ 14 เดือน นับตั้งแต่ มิ.ย. 65 จากเหตุผลสำคัญคือ ประชาชนกังวลกับความไม่แน่นอนในการจัดตั้งรัฐบาล และเสถียรภาพทางการเมือง ซึ่งอาจส่งผลต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในปัจจุบันและในอนาคต และเป็นเหตุให้ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคทุกรายการในเดือน ก.ค.นี้ ปรับตัวลดลง

นอกจากนี้ การที่ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยรวม ยังคงเคลื่อนไหวคงอยู่ต่ำกว่าระดับ 100 แสดงให้เห็นว่าผู้บริโภคยังคงเห็นว่าสถานการณ์เศรษฐกิจโดยรวมยังคงฟื้นตัวช้า ค่าครองชีพสูง และการปรับขึ้นดอกเบี้ย ส่งผลกระทบทางจิตวิทยาในเชิงลบต่อกำลังซื้อภายในประเทศ ภาคการท่องเที่ยว ภาคการส่งออก ภาคธุรกิจ และการจ้างงานในอนาคต โดยยังมีโอกาสบั่นทอนความเชื่อมั่นของผู้บริโภคทั้งในปัจจุบันและในอนาคตได้อย่างต่อเนื่องในระยะอันใกล้นี้

นายธนวรรธน์ กล่าวว่า การที่ยังไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้นั้น ทำให้ประชาชนมีความกังวลต่อสถานการณ์การเมืองที่ยังไม่นิ่ง และระมัดระวังในการจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น ซึ่งทำให้เม็ดเงินที่จะเข้าไปหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจลดลง ประกอบกับบรรยากาศการส่งออกที่ยังไม่โดดเด่น และมีแนวโน้มว่าทั้งปีนี้จะติดลบ 2% มากกว่าเดิมที่คาดไว้ว่าจะติดลบ 1% นั้น ก็ส่งผลกระทบต่อ supply chain ส่วนการท่องเที่ยวในช่วงไตรมาส 3 ก็เป็นช่วง low season

“สถานภาพของรัฐบาลรักษาการ ที่ไม่สามารถใช้เม็ดเงินงบประมาณในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศได้อย่างเต็มที่ เมื่อรวมกับอีกหลายปัจจัยที่กล่าวมานั้น ทำให้เม็ดเงินที่จะเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจโดยรวม ลดน้อยลงไปราว 5-8 หมื่นล้านบาท ดังนั้นบรรยากาศในช่วงเดือน มิ.ย. – ก.ค. ที่ผ่านมา เศรษฐกิจจึงยังนิ่งๆ” นายธนวรรธน์ ระบุ

อย่างไรก็ดี หากการจัดตั้งรัฐบาลใหม่สามารถเกิดขึ้นได้ภายในเดือน ส.ค. หรือ ก.ย.นี้ และรัฐบาลใหม่มีเสถียรภาพ ก็คาดว่าความเชื่อมั่นของผู้บริโภค จะกลับมาฟื้นตัวขึ้นได้อย่างต่อเนื่อง

“การที่ดัชนีฯ ลดลงเป็นครั้งแรกในรอบ 14 เดือน เพราะคนไม่มั่นใจว่าจะมีรัฐบาลใหม่ได้เมื่อไร และไม่รู้ว่ารัฐบาลจะมาจากขั้วไหน และเมื่อตั้งรัฐบาลแล้ว เสถียรภาพการเมืองจะเป็นอย่างไร ซึ่งสถานการณ์นี้เริ่มเห็นได้ตั้งแต่เดือน มิ.ย. ก.ค. ทำให้บรรยากาศทางด้านเศรษฐกิจไม่ค่อยโดดเด่น” นายธนวรรธน์ กล่าว

อย่างไรก็ดีการที่ความเชื่อมั่นลดลงไม่ได้หมายความว่าดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคจะมีทิศทางเป็นขาลง เพราะการปรับลดลงเพิ่งเกิดขึ้นเพียง 1 เดือนเท่านั้น ซึ่งหากสถานการณ์การเมืองในประเทศเริ่มเห็นความชัดเจน คือ มีนายกรัฐมนตรี ได้รัฐบาลใหม่ และมีนโยบายและงบประมาณที่เข้ามาช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ก็คาดว่าในช่วงปลายปีเศรษฐกิจไทยมีโอกาสที่จะเติบโตได้อย่างโดดเด่นขึ้น โดยศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ ยังคงประมาณการเศรษฐกิจไทยในปีนี้ไว้ที่ 3.5% ซึ่งหากได้ความชัดเจนของคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ รวมทั้งแนวนโยบายของรัฐบาลใหม่แล้ว ก็จะมีการปรับประมาณการเศรษฐกิจไทยในปีนี้ใหม่อีกครั้ง