ดาวโจนส์ปิดร่วงหนักกว่า 320 จุด น้ำมันดิบพลิกพุ่งกว่า 5% เหลือกว่า 108 ดอลลาร์

360
0
Share:

เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2565 (ตามเวลาในสหรัฐ) ดัชนีหุ้นดาวโจนส์ปิดที่ระดับ 31,834 จุด -326 จุด หรือ -1.02% ดัชนีหุ้นเอสแอนด์พี 500 อยู่ที่ระดับ 3,935 จุด -65 จุด หรือ -1.65% และดัชนีหุ้นนาสแดค อยู่ที่ระดับ 11,364 จุด -373 จุด หรือ -3.18% ส่งผลให้ดัชนีหุ้นดาวโจนส์ร่วงลงเป็นวันที่ 5 ติดต่อกัน ขณะที่ดัชนีหุ้นเอสแอนด์พี 500 กลับมาปิดหลุด 4,000 จุดเป็นครั้งที่ 2 ในสัปดาห์นี้ ที่สำคัญ ดัชนีดังกล่าวดำดิ่งรุนแรงถึง -18% จากสถิติสูงสุดในรอบ 52 สัปดาห์ และ -17% นับตั้งแต่ต้นปีนี้
.
สาเหตุจากนักลงทุนหวั่นวิกฤตมากขึ้นกับอัตราเงินเฟ้อเดือนเมษายนของสหรัฐอเมริกาที่พุ่งขึ้นแตะระดับ 8.3% ซึ่งสูงกว่าที่คาดไว้ที่ระดับ 8.2% ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อในสหรัฐอเมริกาในแง่เฉลี่ย 1 ปี ยังคงอยู่ในระดับสูงสุดที่ 8.5% ในรอบ 40 ปีต่อเนื่อง สร้างแรงกดดันต่อแนวโน้มการปรับขึ้นดอกเบี้ยระยะสั้นของธนาคารกลางสหรัฐอเมริกาต่อไป
.
ตลาดซื้อขายสัญญาน้ำมันดิบล่วงหน้า รายงานว่า ราคาน้ำมันดิบไนเม็กซ์ นิวยอร์ก สหรัฐ ปิดที่ 106.23 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล +6.47 ดอลลาร์/บาร์เรล ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2565 มีราคาพุ่งขึ้นสูงสุดที่ 130.50 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล ทำสถิติราคาน้ำมันดิบไนเม็กซ์ที่สูงสุดนับตั้งแต่กันยายน 2008 หรือในรอบ 13 ปี 5 เดือน
.
ด้านราคาน้ำมันดิบเบร็นท์ อังกฤษ ทะเลเหนือ ปิดที่ 108.09 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล +5.63 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล หรือ +5.63% ก่อนหน้านี้ ราคาน้ำมันดิบเบร็นท์ อังกฤษ มีราคาสูงสุดนับตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2008 หรือในรอบ 13 ปี 7 เดือน โดยเมื่อคืนวันจันทร์ที่ 7 มีนาคม 2565 มีขึ้นมาสูงสุดระหว่างวันที่ระดับ 139.13 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล
.
สาเหตุจากปริมาณก๊าซธรรมชาติจากรัสเซียที่ส่งผ่านประเทศยูเครนเข้าไปสู่ยุโรปลดลงอย่างชัดเจนถึง 25% จากก่อนหน้านี้ นอกจากนี้ กลุ่มสหภาพยุโรปสามารถโน้มน้าวประเทศฮังการีให้เร่งลดการพึ่งพาน้ำมันดิบจากรัสเซีย
.
ราคาทองคำล่วงหน้านิวยอร์ก สหรัฐ ปิดที่ 1,852.80 ดอลลาร์สหรัฐ/ออนซ์ +11.80 ดอลลาร์สหรัฐ/ออนซ์ หรือ -0.7% ก่อนหน้านี้ ราคาทองคำล่วงหน้ามีราคาสูงสุดระหว่างวันขึ้นไปถึง 2,072.50 ดอลลาร์สหรัฐ/ออนซ์ ทำสถิติสูงสุดนับตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2020 หรือในรอบ 18 เดือน
.
สาเหตุจากค่าเงินดอลลาร์สหรัฐกลับมาร่วงลงไม่มาก ซึ่งยังใกล้เคียงระดับสูงสุดในรอบ 20 ปี และอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐระยะสั้นกลับพุ่งสูงขึ้นแตะ 3% สูงสุดครั้งใหม่ในรอบ 3 ปี หลังเงินเฟ้อในเมษายนของสหรัฐอเมริกายังคงเพิ่มขึ้นที่ระดับ 8.3% ซึ่งสูงกว่าที่คาดไว้