ด่วน! องค์การอนามัยโลกประกาศโรคฝีดาษลิงเป็นภาวะสาธารณสุขฉุกเฉินโลก

382
0
Share:

วันนี้ 23 กรกฎาคม 2565 องค์การอนามัยโลก หรือ WHO มีมติประกาศโรคฝีดาษลิงเป็นภาวะสาธารณสุขฉุกเฉินทั่วโลก

นายแพทย์เทดรอส อัดฮานอม จีเบรเยซุส ผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลก เป็นผู้ตัดสินใจให้ประกาศภาวะสาธารณสุขฉุกเฉินทั่วโลกกับโรคฝีดาษลิงท่ามกลางความคิดเห็นของคณะกรรมการที่ไม่ได้ออกมาเป็นเสียงส่วนใหญ่ในการประกาศดังกล่าว ทำให้เป็นครั้งแรกขององค์การอนามัยโลกที่มีผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลกตัดสินใจดังกล่าว

จากการเปิดเผยเพิ่มเติม พบว่า กรรมการในที่ประชุมซึ่งเห็นด้วยให้ประกาศโรคฝีดาษลิงเป็นภาวะสาธารณสุขฉุกเฉินทั่วโลกมีจำนวน 6 เสียง ในขณะที่มีกรรมการไม่เห็นด้วยจำนวน 8 เสียง

ผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลก กล่าวว่า โลกเกิดโรคติดต่อที่เกิดการแพร่กระจายอย่างรวดเร็วผ่านวิธีการติดต่อใหม่ ซึ่งในขณะนี้ต้องยอมรับว่าองค์การอนามัยโลกมีความเข้าใจน้อยเกินไป และที่สำคัญสภาวะโรคดังกล่าวเข้ากฎเกณฑ์การกำกับสาธารณสุขระหว่างประเทศ

การประกาศภาวะดังกล่าว หมายถึงโรคติดต่อฝีดาษลิงเป็นสถานการณ์ที่มีความเสี่ยงในการแพร่ระบาดในหลายประเทศมากขึ้น และต้องอาศัยความร่วมมือในการตอบสนองต่อการร่วมมือทั่วโลก

ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคระบาดแห่งชาติสหรัฐอเมริกา หรือ CDC เปิดเผยว่า ข้อมูลถึงวันนี้ 22 กรกฎาคม 2565 ตามเวลาในสหรัฐอเมริกา พบผู้ป่วยติดโรคฝีดาษลิงสะสมจำนวน 16,836 ราย กระจายใน 74 ประเทศทั่วโลกรวมทั้งประเทศไทย จำนวนผู้ติดเชื้อ 16,836 ราย พบว่า 16,593 ราย หรือ 98.5% เป็นผู้ป่วยในประเทศที่ไม่เคยเกิดโรคติดต่อฝีดาษลิงมาก่อน ในเวลาเดียวกัน จำนวน 74 ประเทศที่พบโรคดังกล่าว พบว่ามี 68 ประเทศ หรือ 91.8% เป็นประเทศไม่เคยพบโรคติดต่อฝีดาษลิงมาก่อน

องค์การอนามัยโลก เปิดเผยว่า ในทวีปแอฟริกาจะพบว่าส่วนใหญ่ของโรคติดต่อฝีดาษลิงจะพบการระบาดจากสัตว์สู่คน ที่สำคัญจะติดต่ออยู่ในวงจำกัดซึ่งโดยปกติแล้วจะไม่พบการติดต่อข้ามพรมแดนไปยังต่างประเทศ ในทางตรงกันข้าม ในทวีปยุโรป อเมริกาเหนือ จะพบว่าส่วนใหญ่ของโรคติดต่อฝีดาษลิงจะพบการระบาดจากคนสู่คน ที่สำคัญไม่พบการเชื่อมโยงกับสัตว์แต่อย่างใด หรือแทบไม่พบการเชื่อมโยงกับการเดินทางไปยังทวีปแอฟริกา

นายแพทย์โรซามันด์ ลิวอิส องค์การอนามัยโลก กล่างว่า 99% ของผู้ป่วยโรคติดต่อฝีดาษลิงไม่นับรวมแอฟริกาจะพบในเพศชาย ในสัดส่วนดังกล่าว พบว่า 98% เกี่ยวข้องกับรักร่วมเพศชายเดียวกัน

ทั้งนี้ องค์การอนามัยโลกเคยประกาศภาวะสาธารณสุขฉุกเฉินทั่วโลกกับโรคระบาดในช่วงที่ผ่านมา ได้แก่ โรคโควิด-19 ในปี 2020 โรคอีโบล่าแอฟริกันตะวันตกในปี 2014 โรคไวรัสซิก้าในละตินอเมริกาเมื่อปี 2016 และความพยายามต่ออายุในการกำจัดโรคโปลิโอจากอดีตถึงในปัจจุบัน