ตะลึงขีดแข่งขันปั้น-ดึงดูด-รักษาคนเก่งของไทยตกต่ำ 4 ปีติดกันในเวทีโลกและอาเซียน

340
0
Share:
ตะลึงขีดแข่งขันปั้น-ดึงดูด-รักษา คนเก่ง ของ ไทย ตกต่ำ 4 ปีติดกันในเวทีโลกและอาเซียน

สถาบันอินเสด (INSEAD) สถาบันพอร์ทูแลนส์ (Portulans Institute) และบริษัทแอคเซนเชอร์ (Accenture) เปิดเผยรายงานการจัดอันดับประเทศที่มีขีดความสามารถแข่งขันด้านคนเก่งมีความสามารถทั่วโลกปี 2023 หรือ หรือ Global Talent Competitiveness Index 2023 ซึ่งจัดอันดับทั้งหมด 133 ประเทศทั่วโลก พบว่า ประเทศไทยมีค่าดัชนีดังกล่าวที่คะแนน 40.77 คะแนน ทำให้อยู่ในอันดับที่ 79 ของโลก ไม่เพียงร่วงลงมากถึง 4 อันดับจากที่เคยอยู่ในอันดับ 75 ของโลกเมื่อปี 2022 ผ่านไป แต่ยังตกต่ำทุกปีต่อเนื่องในระยะเวลา 4 ปีผ่านมา หรือตั้งแต่ปี 2020-2023

เมื่อย้อนตรวจสอบข้อมูลรายงานดังกล่าวจากสถาบันอินเสด (INSEAD) ตั้งแต่ปี 2020 -2023 พบว่าประเทศไทยไม่สามารถรักษาอันดับขีดความสามารถแข่งขันด้านคนเก่งมีความสามารถไว้ได้ ซึ่งปี 2019 เป็นปีที่ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 66 (38.62 คะแนน) ถัดมาในปี 2020 ไทยตกลงมา 1 อันดับ มาอยู่ที่ 67 ในปี 2021 ไทยลดลง 1 ขั้นมาอยู่ที่อันดับ 68 ในปี 2022 ไทยดิ่งแรง 7 อันดับ ลดลงมาอยู่อันดับที่ 75 และในปีนี้ 2023 ไทยร่วงลงถึง 4 อันดับ ลดลงมาอยู่อันดับที่ 79 ของโลก

ขณะที่ประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่อันดับ 1 ในอาเซียน สามารถปรับปรุงและพัฒนาอันดับขีดความสามารถแข่งขันด้านคนเก่งอย่างน่าทึ่ง โดยในปี 2023 นี้ ได้รับการจัดอันดับขึ้นมาอยู่ที่ 80 พุ่งสูงถึง 14 ขั้นในช่วงระยะเวลา 5 ปีผ่านมา หรือตั้งแต่ปี 2019-2023 ส่งผลกลายเป็นประเทศที่มีอันดับพุ่งสูงขึ้นมากเป็นอันดับ 2 ของ 113 ประเทศทั่วโลกในปีนี้ และเข้ามาจี้ติดประเทศไทยในปีนี้ หลังจากที่ในปี 2022 ยังอยู่ห่างจากประเทศไทยถึง 5 อันดับ

สำหรับอันดับเฉพาะในอาเซียนปี 2023 พบว่า ประเทศสิงค์โปร์ บรูไน มาเลเซีย และเวียดนามมีคะแนน 77.11, 51.74, 51.35 และ 41.50 ตามลำดับ ซึ่งอยู่สูงกว่าไทย ทำให้สิงค์โปร์ บรูไน มาเลเซีย และเวียดนามมีความสามารถในการจูงใจบุคคลที่มีความเก่งทั่วโลกอยู่ในอันดับที่ 2, 41, 42, และ 75 ของโลก และเป็นอันดับที่ 1, 2, 3 และ 4 ของอาเซียนตามลำดับ

ขณะที่อินโดนีเซียได้คะแนน 40.25 อยู่อันดับ 80 ของโลก (อันดับ 6 อาเซียน) ฟิลิปปินส์มีคะแนน 39.23 อยู่อันดับ 84 ของโลก (อันดับ 7 อาเซียน) สปป.ลาว ได้คะแนน 30.83 อยู่อันดับ 101 ของโลก (อันดับ 8 อาเซียน) กัมพูชาได้คะแนน 29.69 อยู่อันดับ 106 ของโลก (อันดับ 9 อาเซียน) ส่วนเมียนมาไม่ติดการจัดอันดับในปีนี้

ทั้งนี้ การจัดอันดับดัชนีขีดความสามารถดังกล่าว ใช้กฎเกณฑ์ในการจัดทั้ง 6 ด้าน ได้แก่ ด้านการสนับสนุนภายในประเทศ ด้านความน่าสนใจ ด้านการพัฒนาเติบโต ด้านรักษาฐานแรงงาน ด้านความชำนาญสายวิชาชีพ และด้านความสามารถระดับสูงของแรงงาน