ติดลบแน่! สรท.คาดส่งออกปี 66 ยังหดตัว 1% ตามเป้า ส่วนปี 67 โต 1-2% จับตาปัจจัยเฝ้าระวัง

338
0
Share:

นายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทยสรท. ) หรือสภาผู้ส่งออก เปิดเผยว่า คาดแนวโน้มการ ส่งออก ในปี 2566 มีมูลค่า 2.85 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือที่ -1% ตามกรอบที่เคยประเมินไว้ในก่อนหน้านี้ โดยเป็นผลมาจากการส่งออกในเดือนพฤศจิกายนธันวาคม 2566 ที่เป็นไปตามคาด โดยเฉพาะสินค้าเกษตร อาทิ ข้าว ผลไม้ และการส่งออกของภาคยานยนต์และชิ้นส่วนที่มาตามนัด รวมถึงค่าเงินบาทที่อยู่ในกรอบที่เหมาะสมกับการส่งออก คือ 34-35 บาทต่อเหรียญสหรัฐฯ

นายชัยชาญ กล่าวว่า สำหรับภาวะการค้าระหว่างประเทศของไทยในช่วงโดยเดือนพฤศจิกายน 2566 เทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน พบว่า การส่งออกมีมูลค่า 23,479.7 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัว 4.9% และมีมูลค่าในรูปเงินบาทเท่ากับ 847,486 ล้านบาท หดตัว 0.2% ในขณะที่การนำเข้ามีมูลค่า 25,879.1 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัว 10.1% และมีมูลค่าในรูปเงินบาทเท่ากับ 944,873 ล้านบาท ขยายตัว 4.8% ส่งผลให้ดุลการค้าของประเทศไทยในเดือนพฤศจิกายน 2566 ขาดดุลเท่ากับ 2,399.4 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือเท่ากับ 97,387 ล้านบาท

นายชัยชาญ กล่าวว่า อย่างไรก็ตาม ส่งผลให้ภาพรวมการค้าระหว่างประเทศของไทยในเดือนมกราคมพฤศจิกายนของปี 2566 เทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนพบว่า ไทยส่งออกรวมมูลค่า 261,770.3 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หดตัว 1.5% และมีมูลค่าในรูปเงินบาทเท่ากับ 9,013,184 ล้านบาท หดตัว 1.8% ในขณะที่การนำเข้ามีมูลค่า 267,935.5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หดตัว 3.8% และมีมูลค่าในรูปเงินบาทเท่ากับ 9,341,112 ล้านบาท หดตัว 4.3% ส่งผลให้ดุลการค้าของประเทศไทยในเดือนมกราคมพฤศจิกายน 2566 ขาดดุลเท่ากับ 6,165.3 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือคิดเป็น 327,928 ล้านบาท

นายชัยชาญ กล่าวอีกว่า ทั้งนี้ สรท. ได้คาดการณ์การส่งออกของไทย ปี 2567 ว่าจะเติบโตได้ 1-2% โดยมีปัจจัยเฝ้าระวังที่สำคัญ ได้แก่ 1. การเคลื่อนไหวของค่าเงินบาท โดยเงินบาทปรับตัวแข็งค่าขึ้นเล็กน้อย เคลื่อนไวในกรอบ 34-35 บาท เฝ้าติดตามสถานการณ์เงินเฟ้อในสหรัฐฯ ที่ทยอยปรับตัวลดลงต่อเนื่อง คาดการณ์ว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) อาจมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยในไตรมาสที่ 1 ปี 2567 2. อัตราดอกเบี้ยนโยบายหลายประเทศยังคงทรงตัวระดับสูง แต่เริ่มมีแนวโน้มที่จะทยอยปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงในบางประเทศแล้ว จากสภาวะเงินเฟ้อที่เริ่มผ่อนคลายลง

นายชัยชาญ กล่าวว่า 3. ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ ที่ยืดเยื้อส่งผลกระทบต่อการค้าและเศรษฐกิจโดยรวม โดยเฉพาะสถานการณ์วิกฤตในทะเลแดง บริเวณช่องแคบ บับ อัลมันเดบ ซึ่งเป็นเส้นทางการขนส่งสินค้าหลักไปทวีปยุโรป และตะวันออกกลาง ส่งผลให้ค่าระวางเรือปรับตัวสูงขึ้น และใช้ระยะเวลาการขนส่งสินค้านานขึ้น 4. ดัชนีภาคการผลิต (PMI) ยังคงทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ โดยสหรัฐฯ ยุโรป และญี่ปุ่น ณ ระดับ 47.9, 44.4 และ 47.9 และ 5. ความกังวลเรื่องต้นทุนภาคการผลิตที่ยังมีความไม่แน่นอน อาทิ ค่าไฟฟ้า, ค่าแรงขั้นต่ำ และค่าระวางเรือเส้นทางยุโรปเริ่มปรับตัวสูงขึ้น เป็นต้น

ทั้งนี้ สรท. ได้เสนอด้วยว่าจากวิกฤตสถานการณ์ทะเลแดง ภาครัฐและเอกชนต้องบริหารจัดการการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศทางทะเลร่วมกัน โดยขอให้นำเรือใหญ่เข้ามาขนถ่ายสินค้าในไทยมากขึ้น สนับสนุนกิจกรรม Transshipment และยกระดับท่าเรือสงขลา โดยการขุดลอกร่องน้ำลึก ทั้งนี้ เพื่อลดต้นทุนทางอ้อม และเป็นการอำนวยความสะดวกให้กับผู้ประกอบการ ทั้งนี้ เรื่องของเรือขนส่งสินค้า ทางสรท.จะร่วมประชุมกับกระทรวงพาณิชย์เพิ่มเติมในวันที่ 11 มกราคมนี้ด้วย และเพื่อให้การส่งออกปี 2567 อยู่ในทิศทางที่สามารถเติบโตได้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ต้องบริหารจัดการปัจจัยเสี่ยงที่ส่งผลกระทบต่อต้นทุนผู้ประกอบการโดยตรง อาทิ ต้นทุนพลังงาน ค่าไฟฟ้า ค่าจ้างขั้นต่ำ อัตราดอกเบี้ย ให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม ในขณะเดียวกันควรมีมาตรการ Soft Loan เพื่อเสริมสภาพคล่องโดยเฉพาะกลุ่มรายย่อยย จากความผันผวนที่คาดการณ์ได้ยาก และ 3. สนับสนุนงบประมาณในการเปิดตลาดศักยภาพใหม่ ในปี 2567 รวมถึงส่งเสริมกิจกรรมการค้าชายแดนและผ่านแดนของไทยเพิ่มมากขึ้น