ต่างชาติเข้าไทยหดเฉียด 100% เหลือแค่ 100,000 คน โรงแรมหรูเมืองกรุงเลื่อนเปิดตัวยาว ราคาดิ่งกว่า 15%

408
0
Share:

นาย ภัทรชัย ทวีวงศ์ ผู้อำนวยการ ฝ่ายวิจัยและการสื่อสาร คอลลิเออร์ส ประเทศไทย ซึ่งเป็นเครือข่ายบริษัทวิจัย และที่ปรึกษาด้านอสังหาริมทรัพย์ชื่อดังระดับโลก เปิดเผยเกี่ยวกับตลาดโรงแรมระดับหรูหราในประเทศไทยโดยเฉพาะในกรุงเทพมหานครท่ามกลางโรคระบาดโควิด-19 พบว่า สถานการณ์ตลาดโรงแรมระดับหรูหราขึ้นอยู่กับกับการฟื้นตัวของนักท่องเที่ยว หรือนักธุรกิจชาวต่างชาติเป็นหลักสำคัญ

สถานการณ์การท่องเที่ยวในไทยช่วงครึ่งแรกปีนี้ เป็นปียากลำบากเป็นอย่างมาก เนื่องจากปัจจัยลบต่างๆ โดยเฉพาะสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้นักท่องเที่ยวต่างชาติปรับตัวลดลงต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ในปีนี้ไว้ที่ประมาณ 10 ล้านคน โดยมองว่าเมื่อผ่านครึ่งแรกของปีมาแล้ว สถานการณ์ต่างๆไม่ดีขึ้น จึงคาดว่าตัวเลขนักท่องเที่ยวต่างชาติในปีนี้อาจเหลือเพียงแค่ 100,000 คน สำหรับในช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้ มีต่างชาติเข้ามาเหลือเพียง 40,447 คนเท่านั้น หดหายมากถึง -99.4% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2563 ซึ่งอยู่ที่ประมาณ 6,691,574 คน

ดังนั้น จึงส่งผลให้ครึ่งแรกของปีนี้ มีจำนวนห้องพักที่เข้าพักประมาณ 12,943 ห้องพัก ที่สำคัญ ไม่พบว่ามีโรงแรมระดับลักชัวรี่เปิดบริการใหม่ในพื้นที่กรุงเทพมหานครแต่อย่างใด

นอกจากนี้ โรงแรมระดับระดับหรูหราในกรุงเทพมหานครที่กำลังอยู่ระหว่างการก่อสร้างซึ่งคาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จ และเปิดบริการในช่วงครึ่งหลังปีนี้อีกประมาณ 4 แห่ง โดยจะมีจำนวนห้องพักรวมกันทั้งสิ้นประมาณ 726 ห้อง และในปีหน้า จะมีจำนวนห้องของโรงแรมหรูหราอีกประมาณ 600 ห้องพัก ที่น่าสนใจ คือโรงแรมระดับหรูหราในกรุงเทพมหานครประมาณ 2 โครงการ รวมห้องพักราว 423 ห้องนั้น ยังคงเลื่อนการเปิดตัวออกไปจากในช่วงครึ่งแรกของปีที่ผ่านมา

ด้านราคาห้องพักโรงแรมตกต่ำถึง -15% โดยในช่วงครึ่งปีแรกนี้ ราคาเฉลี่ยห้องพักรายวัน(ADR) ของโรงแรมระดับหรูหราในกรุงเทพมหานครยังคงปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง เฉลี่ยเหลือเพียงประมาณ 3,264 บาท ซึ่งลดลงประมาณ 15% จากในช่วงครึ่งหลังของปีที่ผ่านมา

แนวโน้มจำนวนผู้ป่วยโควิด-19 ที่ยังคงเพิ่มสูงขึ้นส่งผลให้อัตราการจองโรงแรมลดลงต่อเนื่อง และอีกกว่า 50% มีการยกเลิกห้องพัก เนื่องจากมองว่าการเดินทางท่องเที่ยวในช่วงที่ผ่านมาอาจไม่ปลอดภัยต่อสุขภาพ และให้ความร่วมมือกับภาครัฐในการจำกัดการเดินทาง

อย่างไรก็ตามประเทศไทย ยังประสบกับปัญหาการกระจายวัคซีนที่ยังคงล่าช้า โดยเริ่มการกระจายวัคซีนครั้งแรกในช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ และตัวเลขการฉีดวัคซีนถึงช่วงกลางเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ประเทศไทยมีตัวเลขผู้ฉีดวัคซีนโควิดเข็มแรกเพียงแค่กว่า 16% ต่อสัดส่วนประชากรทั้งประเทศเท่านั้น