ธปท.ห่วงภาคธุรกิจ-ครัวเรือนที่รับแรงกระแทกทางเศรษฐกิจได้น้อยลง

492
0
Share:

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ระบุว่า การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ระลอกใหม่ส่งผลต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจไม่รุนแรงเท่าระลอกแรก แต่ผลกระทบมีความแตกต่าง ในทั้งมิติพื้นที่และกลุ่มธุรกิจ โดยจากผลของการระบาดระลอกแรกทำให้ฐานะทางการเงินของหลายภาคธุรกิจและครัวเรือนมีความสามารถในการรองรับแรงกระแทกทางเศรษฐกิจได้น้อยลงมาก มาตรการช่วยเหลือในรอบนี้จึงมีความจำเป็น และควรต้องมุ่งเน้นจุดเปราะบางให้ได้อย่างทั่วถึง
.
ทั้งนี้ ในระยะต่อไป แนวโน้มเศรษฐกิจยังมีความไม่แน่นอน ขึ้นกับการแพร่ระบาด การกระจายวัคซีนในไทย รวมถึงมาตรการต่าง ๆ ที่จะช่วยพยุงเศรษฐกิจ
.
โดยสถานการณ์การระบาดของโควิด 19 ระลอกใหม่ในไทยกระจายเป็นวงกว้างและเร็วกว่าการระบาดรอบแรก แต่ความรุนแรงของโรคน้อยกว่าและพัฒนาการของวัคซีนมีความชัดเจนมากขึ้น คาดว่าผลต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจจะไม่รุนแรงเท่าการระบาดรอบก่อน จากมาตรการที่เข้มงวดน้อยกว่า และภาคการส่งออกสินค้าที่ยังขยายตัวได้ตามเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า
.
อย่างไรก็ดี ผลกระทบและการฟื้นตัวในระยะต่อไปจะต่างกัน ทั้งเชิงพื้นที่กลุ่มธุรกิจ และกลุ่มแรงงาน โดยพื้นที่ที่อยู่ภายใต้มาตรการควบคุมเข้มงวดครอบคลุมสัดส่วนกิจกรรมทางเศรษฐกิจสูงเกินครึ่งของประเทศ ขณะที่ด้านกลุ่มธุรกิจ จะมีกลุ่มที่เปราะบางเพิ่มเติมจากรายได้จะลดลงในช่วงนี้ โดยเฉพาะกลุ่มบริการ ขณะที่บางกลุ่มที่มีฐานะการเงินอ่อนแออยู่ก่อนแล้ว เช่น ธุรกิจในภาคการท่องเที่ยว จะได้รับผลกระทบจากการระบาดระลอกใหม่นี้เพิ่มเติมอีก ส่วนด้านแรงงาน ในพื้นที่สีแดงที่มาตรการควบคุมเข้มงวด คาดว่ากลุ่มที่มีความเสี่ยงจะได้รับผลกระทบจะมีประมาณ 4.7 ล้านคน
.
ทั้งนี้ในระยะข้างหน้ายังมีความไม่แน่นอนสูงในเรื่องการแพร่ระบาด การกระจายวัคซีน และการปรับพฤติกรรมของประชาชน อีกทั้งในปัจจุบันหลายภาคธุรกิจและครัวเรือนมีฐานะการเงินที่เปราะบางขึ้นมากจากการระบาดรอบแรก ทำให้ความสามารถในการรองรับแรงกระแทกทางเศรษฐกิจน้อยลง ซึ่งอาจทำให้ผลกระทบรุนแรงขึ้นได้ ดังนั้น การช่วยเหลือภาคธุรกิจและแรงงานอย่างทันการณ์เป็นเรื่องจำเป็นเร่งด่วน และต้องเน้นการเข้าถึงกลุ่มเปราะบาง (targeted) ให้ทั่วถึงมากที่สุด