ธุรกิจญี่ปุ่นกว่า 500 แห่งในไทย มองส่งออกไทยครึ่งปีหลังยังทรงกับทรุด ยกนิ้วเวียดนาม

246
0
Share:
ธุรกิจญี่ปุ่น กว่า 500 แห่งในไทย มอง ส่งออกไทย ครึ่งปีหลังยังทรงกับทรุด ยกนิ้วเวียดนาม

หอการค้าญี่ปุ่น กรุงเทพ ประเทศไทย (JCCB) เปิดเผยการสำรวจแนวโน้มทางเศรษฐกิจของบริษัทร่วมทุนญี่ปุ่นในประเทศไทย สำหรับผลสำรวจประจำครึ่งปีแรก 2566 นี้ พบว่าบริษัทสัญชาตญี่ปุ่นที่ดำเนินธุรกิจในประเทศไทยมีมุมมองสภาพทางธุรกิจได้รับผลกระทบจากปัจจัยต่างๆ เช่น ภาวะเงินเฟ้อทั่วโลก และอุปสงค์ที่มีต่อการส่งออกลดลง ซึ่งเป็นผลจากนโยบายการเงินแบบตึงตัวแม้ว่าจะได้รับผลดีจากการฟื้นตัวของการท่องเที่ยวขาเข้าในไทยก็ตาม มุมมองดังกล่าวสะท้อนจากดัชนีแนวโน้มเศรษฐกิจ (Diffusion Index : DI) ในช่วงครึ่งหลังของปี 2565 อยู่ที่ระดับ 24 ปรับตัวลงมาอยู่ที่ -3 ในช่วงครึ่งแรกของปี 2566 จากตัวเลขคาดการณ์ก่อนจะปรับตัวขึ้นมาอยู่ที่ 26 ในช่วงครึ่งหลังของปี 2566

อย่างไรก็ตาม ตัวเลขคาดการณ์ค่าดัชนี DI ในช่วงครึ่งหลังของปี 2566 นั้นได้ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงครึ่งแรกของปี 2566 หมายความว่าผู้ประกอบการญี่ปุ่นที่เป็นผู้ตอบแบบสำรวจนี้ คาดหวังต่อการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องของการท่องเที่ยวขาเข้าและการฟื้นตัวของอุปสงค์ที่มีต่อการส่งออก

มุมมองกับแนวโน้มการส่งออกในช่วงครึ่งปีหลัง 2566 นี้ บริษัทญี่ปุ่นในไทยราว 30% คาดว่าการส่งออกจะเพิ่มขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี 2566 ถัดมา 46% ของบริษัทญี่ปุ่นคาดว่าการส่งออกจะคงที่ และมี 24% ของบริษัทในผลสำรวจนี้คาดว่าการส่งออกจะลดลง

บริษัทญี่ปุ่นในไทย 46% มองว่าเวียดนามมาเป็นอันดับ 1 ของตลาดส่งออกจากประเทศไทยที่บริษัทต่างๆ มองว่ามีศักยภาพในอนาคต ตามด้วย อินเดีย 40% อินโดนีเซีย 31% และ ญี่ปุ่น 18% ตามลำดับ

ประเด็นที่บริษัทร่วมทุนญี่ปุ่นต้องการการส่งเสริมจากรัฐบาลไทยมากที่สุด คือ 34% การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่ง ต่อมา 33% การบังคับใช้มาตรการเกี่ยวกับมลพิษทางอากาศ และ 32% กฎระเบียบและการบังคับใช้กฎระเบียบเกี่ยวกับภาษีศุลกากรและพิธีการศุลกากร

บริษัทร่วมทุนญี่ปุ่นเห็นว่ามีการปรับปรุงพัฒนาดีขึ้นในช่วงที่ผ่านมา ได้แก่ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่ง การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการสื่อสาร การใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในการดำเนินงานของภาครัฐ และกฎระเบียบและการบังคับใช้กฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับพลังงานสีเขียว สำหรับด้านบุคลากร พบว่าตำแหน่งงานขาดแคลน ได้แก่ วิศวกร (รวมบุคลการด้านการวิจัยและพัฒนา) ผู้จัดการสำนักงาน และ บุคลากรด้านดิจิทัล นอกจากนี้ ในประเด็นสำหรับการดำเนินงานเกี่ยวกับการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัลในปัจจุบันของบริษัทนั้น บริษัทส่วนใหญ่ระบุว่าเห็นว่ามีความจำเป็นและมีแผนดำเนินงาน

ทั้งนี้ การทำผลสำรวจดังกล่าวทำเป็นประจำทุกปีปีละ 2 ครั้ง ตั้งแต่ปี 2514 (ค.ศ. 1971) โดยมีบริษัทญี่ปุ่นที่เป็นสมาชิก JCCB จำนวน 512 ราย การสำรวจนี้ถือเป็นการสำรวจสำคัญที่จะสะท้อนสภาพธุรกิจและการค้าการลงทุนระหว่างทั้งสองประเทศ