ธุรกิจไทยกู้สะพัดดันยอดหนี้พุ่งแตะเฉียด 80% ของจีดีพี กู้มากขึ้นเกือบ 10% ใน 4 ปี

148
0
Share:
ธุรกิจ ไทยกู้สะพัดดันยอด หนี้ พุ่งแตะเฉียด 80% ของจีดีพี กู้มากขึ้นเกือบ 10% ใน 4 ปี

สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือสภาพัฒน์ แถลงสถานการณ์หนี้สินของภาคธุรกิจทั่วโลกและของเอกชนประเทศไทย ซึ่งเป็นข้อมูลอ้างอิงจากสถาบันการเงินชื่อว่า Institute of International Finance หรือ IIF เป็นหนึ่งในสถาบันการเงินของธนาคารโลก โดยเมื่อสิ้นไตรมาสที่ 2 ในปี 2566 พบว่าหนี้สินของประเทศต่างๆ ทั่วโลกเพิ่มสูงขึ้นมาอยู่ที่ 307.1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือกว่า 10,800 ล้านล้านบาท ซึ่งคิดเป็น 335.9% ต่อจีดีพีโลก ส่งผลทำสถิติมูลค่าหนี้ต่อจีดีพีสูงที่สุดในรอบ 24 ปีผ่านมา หรือนับตั้งแต่มีการเก็บข้อมูลในปี 2542

สำหรับโครงสร้างหนี้สินของกลุ่มประเทศเศรษฐกิจที่พัฒนาแล้ว และกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาในเอเชีย พบว่า มีสัดส่วนที่ต่างกัน โดยกลุ่มประเทศเศรษฐกิจพัฒนาแล้วมีเป็นหนี้สินส่วนใหญ่เป็นของภาครัฐ 29.5% และหนี้สินสถาบันการเงินอยู่ที่ 27.9% ด้านกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาในเอเชีย พบว่า หนี้สินส่วนใหญ่กลับมาจากภาคเอกชนที่ไม่ใช่สถาบันการเงินมากถึง 42.8% เป็นหนี้ภาครัฐบาลที่ 24.2% มีสัดส่วนของหนี้ครัวเรือนที่ 18.9% และมีหนี้สถาบันการเงินที่ 14.2%

ในส่วนของประเทศไทยนั้น ข้อมูลของธนาคารแห่งประเทศไทย หรือแบงก์ชาติ เปิดเผยว่า มูลค่าหนี้สินเป็นหนี้สินของภาคธุรกิจโดยสิ้นสุดไตรมาสที่ 2 ของปี 2566 เพิ่มสูงขึ้นถึงระดับ 79.6% ต่อจีดีพีประเทศไทย ที่สำคัญ เป็นหนี้ที่เพิ่มสูงขึ้นจากช่วงก่อนเกิดวิกฤตการณ์โรคระบาดโควิด-19 ซึ่งเคยอยู่ที่ระดับ 70.3% ต่อจีดีพีประเทศไทย

ขณะเดียวกัน สิ้นสุดไตรมาสที่ 3 ของปี 2566 เปรียบเทียบกับช่วงก่อนเกิดวิกฤตการณ์โรครระบาดโควิด-19 พบว่า เอกชนไทยระดมทุนต่อเนื่องโดยเฉพาะการออกตราสารหนี้เพิ่มมากขึ้น ในเวลาเดียวกันเอกชนไทยมีการกู้ยืมเงินผ่านสินเชื่อลดลง สาเหตุจากการระดมเงินทุนในตลาดตราสารหนี้มีต้นทุนที่ต่ำกว่า แต่ด้วยภาวะการผิดนัดชำระของผู้ออกตราสารหนี้ในหลายบริษัท ทั้งจากปัญหาด้านธรรมาภิบาล หรือปัญหาด้านสภาพคล่องของบริษัทผู้ออกตราสารหนี้ ได้ส่งผลกระทบโดยตรงต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนในตลาดตราสารหนี้ จึงทำให้ภาคเอกชนที่ระดมทุนผ่านตลาดตราสารหนี้จึงมีแนวโน้มที่จะเผชิญความเสี่ยงในการระดมทุนในอนาคต