นักวิชาการชูควบรวมต่างประเทศไม่ต่างควบรวมทรู-ดีแทค ฮั้ว-ขึ้นค่าบริการลิบลับ

454
0
Share:
ทรู-ดีแทค

นายฉัตร คำแสง ผู้อำนวยการ 101 PUB ได้เปิดเผยข้อเท็จจริงกรณีการควบรวมธุรกิจระหว่างทรู-ดีแทค ในวงเสวนาควบรวม ทรู-ดีแทค ผู้บริโภครับกรรม ว่า จากการศึกษาพบว่า การควบรวมครั้งนี้ก่อให้เกิดการกระจุกตัวของตลาดสูงขึ้นมาก จากเดิมที่ประเทศไทย มีผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ รายใหญ่ 3 ราย ได้แก่ เอไอเอส ทรู และดีแทค โดยเอไอเอสมีส่วนแบ่งทางการตลาดอยู่ที่ 47% ส่วนทรูอยู่ที่ 33% และดีแทคอยู่ที่ 20% ซึ่งแปลว่า เมื่อทรูและดีแทคควบรวมกิจการแล้วจะมีขนาดที่สูสีกับเอไอเอส อยู่ที่รายละประมาณ 50% โดยมีบริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือเอ็นที แทรกขึ้นมา อยู่ที่ประมาณ 3%

ทั้งนี้ จากดัชนีการกระจุกตัว (HHI) โดยนำส่วนแบ่งทางการตลาด ของผู้เล่นแต่ละราย มายกกำลัง 2 และนำมาบวกกัน หากเป็นตลาดที่ผูกขาดเพียงผู้ประกอบการรายเดียว จะมีส่วนแบ่งทางการตลาดอยู่ที่ 100 ค่าเต็มจึงเป็น 10,000 แต่หากมีผู้ประกอบการเยอะขึ้น ค่าดังกล่าวจะน้อยลงเรื่อยๆ จนใกล้ศูนย์ และถ้ายิ่งใกล้ศูนย์เท่าไหร่ จะยิ่งเป็นตลาดเสรี มีการแข่งขันเยอะเท่านั้น

แต่เมื่อเกิดการควบรวมกิจการแล้ว พบว่า ดัชนี HHI เพิ่มขึ้น จากกว่า 3,500 ไปอยู่ที่เกือบ 5,000 หรือประมาณ 4,700-4,800 ซึ่งเพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดด ขณะที่ กสทช.เอง มองว่า ตลาดที่มีดัชนี HHI เกิน 2,500 เป็นตลาดที่อันตราย และการเพิ่มขึ้นจากการควบรวมกิจการ ที่เพิ่มขึ้นเกิน 100 เป็นเรื่องที่น่าตื่นตกใจ ซึ่งสำหรับ กสทช.แล้ว เดิมที่ตลาดก่อนการควบรวมกิจการมีดัชนี HHI เกินเกณฑ์อยู่แล้ว และเมื่อเกิดการควบรวมกิจการ กำหนดไว้ไม่ให้เกิน 100 แต่เพิ่มขึ้นทีเดียว 1,200-1,300 ถือว่าเยอะมาก

ในอดีตผ่านมา ประเทศไทยเคยมีดัชนี HHI เกิน 4,000 เมื่อประมาณ 20 ปีที่แล้ว โดยช่วงนั้นเป็นช่วงที่เอไอเอสครองส่วนแบ่งทางการตลาด อาจจะมีดีแทคแซงขึ้นมาบ้าง แต่หลังจากนั้นมา การกระจุกตัวของตลาดลดลงอย่างรวดเร็ว สอดคล้องกับราคาค่าบริการที่ลดลงอย่างรวดเร็วเช่นกัน ซึ่งเป็นผลจากการที่ทรูทำการตลาดอย่างจริงจัง จนสามารถดึงส่วนแบ่งทางการตลาดออกได้ และทำให้ตลาดเกิดการแข่งขัน ส่วนต่างระหว่างราคากับต้นทุน จึงห่างหายลงไปเยอะ แต่เรื่องของอนาคต จากในปัจจุบันที่อยู่ประมาณ 3,000 จะทะยานกลับขึ้นไป ฉะนั้นจำเป็นจะต้องมีการศึกษา ถึงผลกระทบในการควบรวมกิจการ

ดังนั้น จึงมีการรวบรวมข้อมูล การกระจุกตัวของตลาด ข้อมูลด้านค่าบริการ ข้อมูลต้นทุน การครอบคลุมของโครงข่าย ทั้งระบบ 3G หรือ 4G ทำเป็นแบบจำลองทางสถิติ เพื่อพิจารณา ว่ามีปัจจัยใดที่ส่งผลกระทบ กับราคาค่าบริการมากน้อยแค่ไหน จึงจะสามารถนำมาเปรียบเที เทียบได้ว่า ดัชนี HHI เพิ่มขึ้นจาก 3,500 กลายเป็น 4,700 นั้น จะทำให้เกิดผลกระทบอย่างไรบ้าง ซึ่งพบว่า การควบรวมครั้งนี้ หากเกิดการแข่งขันอย่างรุนแรง แม้ว่าจะมีผู้ให้บริการ 2 ราย คือ เอไอเอส และทรู ราคาค่าบริการก็ยังเพิ่มขึ้น ราว 7-10% แต่หากมีการแข่งขันกันตามปกติราคาค่าบริการ จะเพิ่มขึ้นราว 13-23% และหากทั้ง 2 รายไม่มีการแข่งขันกันเพราะพอใจกับส่วนแบ่งทางการตลาดที่รายละประมาณ 50% แล้ว ทั้ง 2 ราย จะสามารถขึ้นราคาไปพร้อมกัน ไม่ว่าจะเป็นการฮั้วกัน แบบที่เป็นลายลักษณ์อักษร หรือแบบเป็นทางการ หรือแบบไม่เป็นทางการ ซึ่งมีโอกาสที่ราคาค่าบริการจะเพิ่มสูงขึ้นเป็นเท่าตัวได้

ในประเด็นดังกล่าว ยังมีเงื่อนไขอยู่เล็กน้อย เช่น กสทช.บอกเสมอ ว่ามีการควบคุมราคาค่าบริการอยู่แล้ว แต่ราคาค่าบริการในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นค่าโทรศัพท์ หรือค่าอินเตอร์เน็ตของผู้ให้บริการทั้ง 3 ราย ปัจจุบัน นี้ต่ำกว่าเพดานอยู่ที่ประมาณ 20% ฉะนั้น หากจะมีการปรับขึ้นราคา 10-20% ก็สามารถ ทำได้ เพราะ ยังไม่ชนเพดาน จึงมีโอกาสที่ราคาค่าบริการจะเพิ่มสูงขึ้น แต่การเพิ่มขึ้นนี้ แบ่งเป็นหลายส่วน และในต่างประเทศก็มีหลายรูปแบบ เช่น ถ้าห้ามเพิ่มราคา หรือปรับลดแพคเกจของลูกค้าปัจจุบัน ผู้ให้บริการก็จะปรับขึ้นราคากับลูกค้ารายใหม่ หรือมีการปรับขึ้นราคาขั้นต่ำกับลูกค้าบางรายที่ใช้บริการน้อย เพื่อให้เติมเงินมากขึ้น หรืออีกมุมหนึ่งสำหรับผู้ที่ใช้บริการโทรศัพท์ หรืออินเตอร์เน็ตจำนวนมาก ทำให้ต้องใช้แพคเกจที่มีราคาสูงขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ หรืออาจเป็นการเพิ่มค่าบริการในอีกรูปแบบ อาทิ ปรับคุณภาพสัญญาณให้ด้อยลง มีจุดอับสัญญาณ ทำให้ผู้บริโภคจำเป็นจะต้องจ่ายค่าบริการที่สูงขึ้น เป็นต้น