นักวิชาการเหน็บถ้าจะมานั่งเฉยๆ ไม่ลงมติ ให้ลาออกดีกว่า ผลสำรวจพุ่งกว่า 3 ล้านเห็นด้วย

237
0
Share:
นักวิชาการเหน็บถ้าจะมานั่งเฉยๆ ไม่ลงมติ ให้ลาออกดีกว่า ผลสำรวจพุ่งกว่า 3 ล้านเห็นด้วย ส.ว.

วันนี้ 18 พฤษภาคม 2566 การแถลงในนามเครือข่ายนักวิชาการเสียงประชาชน ที่คณะนิติศาสตร์ มหาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เกี่ยวกับผลการโหวตของประชาชนให้ ส.ว. เคารพเสียงประชาชน มีดังนี้

นายปริญญา เทวานฤมิตรกุล นักวิชาการนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์กล่าวว่า ผลโหวตเสียงประชาชนและข้อเสนอแนะต่อการจัดตั้งรัฐบาลและการเลือกนายกรัฐมนตรีที่เครือข่ายนักวิชาการเสียงประชาชนจาก 10 มหาวิทยาลัยได้ร่วมกับสื่อมวลชน 10 สำนักโหวต “เสียงประชาชน” ตั้งแต่เวลา 12.00 น. ของวันที่ 15 พฤษภาคม ถึงเวลา 12.00 น. ของวันนี้ (18 พ.ค.) พบว่า

คำถามจากผลสำรวจ คือ “ท่านเห็นด้วยหรือไม่ที่ ส.ว. ควรเคารพเสียงประชาชน โดยโหวตเลือกนากยกรัฐมนตรีตามเสียงข้างมากของ ส.ส.” โดยมีการโหวตทั้งสิ้น 3,487,313 ครั้ง เห็นด้วย 85% และไม่เห็นด้วย 15%

นายปริญญา กล่าวว่า การโหวตเสียงประชาชนครั้งนี้ โดยหลักการคือการเปิดให้ประชาชนไม่ว่าฝ่ายใดได้ออกเสียงในประเด็นที่จะต้องตัดสินใจ ซึ่งรัฐบาลที่จะตั้งขึ้นมาบริหารประเทศนับจากนี้ไปควรพิจารณานำไปพัฒนาต่อไปในการให้ประชาชนเจ้าของประเทศได้มีส่วนร่วมตัดสินใจในเรื่องราวต่างๆ ให้มากขึ้นและบ่อยขึ้น

“สำหรับการโหวตเสียงประชาชนในครั้งนี้ ประเด็นคือเรื่องของการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีของ ส.ว. เนื่องจาก ส.ว. มีอำนาจเท่ากับ ส.ส. ในการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี และได้เงินเดือนและค่าตอบแทนเท่ากับ ส.ส. แต่ไม่ได้ถูกเลือกมาจากประชาชน และไม่ได้มีสัญญาประชาคมกับประชาชนว่าจะเลือกใครเป็นนายกรัฐมนตรี ดังเช่น ส.ส. ที่ได้กระทำในช่วงหาเสียงเลือกตั้ง

ดังนั้น ส.ว.จึงต้องฟัง “เสียงประชาชน” ในการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี และไม่ควรทุ่มเถียงหรือเกี่ยงงอนกับประชาชน หรือบอกประชาชนไม่ให้กดดัน เพราะตำแหน่ง ส.ว. ไม่ได้ทำหน้าที่แบบให้เปล่า แต่มีเงินเดือนและค่าตอบแทนจากภาษีอากรของประชาชน และการเลือกนายกรัฐมนตรีไม่ใช่บุคคล หรือกิจการส่วนตัวของ ส.ว. แต่เป็นเรื่องส่วนรวมที่ประชาชนเจ้าของประเทศย่อมมีได้ ในวิถีทางภายใต้กฎหมายและวิธีการที่เหมาะสมด้วย

นายปริญญา เทวานฤมิตรกุล นักวิชาการนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า จากนี้ไปอีกประมาณ 60 วัน ที่จะมีการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี จึงถือได้ว่าเป็น “การหาเสียงครั้งที่สอง” พรรคที่กำลังจะเป็นรัฐบาลจะต้องไปหาเสียงต่อกับผู้เลือกนายกรัฐมนตรี ขณะนี้มี 313 เสียงแล้ว จึงขาดอีก 63 เสียง ซึ่งสามารถหาเสียงหรือขอเสียงได้ทั้งจาก ส.ส.ที่เหลือ และ ส.ว.อีก 250 คน

นายปริญญา กล่าวว่า สำหรับเรื่องคุณสมบัติต่างๆ ของผู้สมัคร ส.ส. นั้น หากมีผู้สมัครคนใดมีคุณสมบัติไม่ครบถ้วนหรือมีคุณสมบัติต้องห้าม กกต. ควรต้องประกาศว่าขาดคุณสมบัติมาตั้งแต่ก่อนเลือกตั้ง หากเลือกตั้งเสร็จแล้วค่อยประกาศว่าขาดคุณสมบัติ ย่อมเป็นความบกพร่องของ กกต. และย่อมถูกมองได้ว่าอาจมีเจตนาให้คุณให้โทษกับผู้หนึ่งผู้ใด หรือพรรคหนึ่งพรรคใดได้

สิ่งที่ กกต. พึงกระทำคือหากมิใช่กรณีการทุจริตหรือคดโกงการเลือกตั้งแล้ว กกต. ควรต้องประกาศรับรองผลการเลือกตั้งให้เป็น ส.ส. และหากผู้ใดมีปัญหาเรื่องคุณสมบัติ หรือต้องตีความ ก็ควรให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามขั้นตอนที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญต่อไป ไม่พึงตัดสินเองในเรื่องที่เป็นอำนาจฝ่ายตุลาการ เพราะจะก่อให้เกิดปัญหาตามมาอย่างมากมาย

ด้านนายพิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) กล่าวว่า บทบาทของ ส.ว. อยากให้ตระหนักถึงประเทศและช่วยประคับประครอง ด้วยการสนับสนุนนายกรัฐมนตรีจากพรรคที่รวบรวมเสียงได้ เพื่อให้ครรลองประชาธิปไตยที่กำลังเกิดขึ้นได้เดินหน้าต่อ หาก ส.ว. ประกาศปิดสวิตช์แล้วจะใช้วิธีมานั่งเฉยๆ ไม่โหวตลงคะแนน ขอแนะนำว่าหากจะใช้วิธีนี้ ให้ ส.ว.ท่านนั้นปิดสวิตช์ด้วยการลาออกดีกว่า

นายโอฬาร ถิ่นบางเตียว มหาวิทยาลัยบูรพา กล่าวว่า เพื่อให้ประชาธิปไตยเดินหน้าต่อไปได้ จึงเห็นว่า ส.ว. ไม่ควรกังวลการตัดสินใจของประชาชน เพราะแม้เลือกนายกรัฐมนตรีไปแล้ว ส.ว. ก็ยังทำหน้าที่ต่อ และสามารถตรวจสอบถ่วงดุลรัฐบาลได้ จึงอยากให้ช่วยกันนำฟืนออกจากกองไฟ

เราเคยเห็นพฤษภาทมิฬ ประวัติศาสตร์ได้บอกไว้แล้วว่าถ้าไม่ทำตามเจตจำนงของประชาชน ท่ามกลางความคุกรุ่นของแรงกดดันที่มีความตื่นตัวทางการเมืองที่เห็นเด่นชัดตั้งแต่การเลือกตั้ง แสดงว่าประชาชนเฝ้าติดตามให้ ส.ว. ทำตามเจตจำนง ส.ว. จึงต้องตระหนักและกลับไปพิจารณาบทเรียนทั้งหมด

นายธนพร ศรียากูล สมาคมรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า สังคมทำสำเร็จแล้ว 2 เรื่อง คือการจัดรัฐบาล ตามลำดับเสียงส.ส. และการปิดสวิตช์การตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อย ขณะนี้บรรยากาศดีที่พรรคเคยเป็นฝ่ายค้านสามารถปรับบทบาทมารวบรวมเสียง แสวงหาความร่วมมือในการรวบรวมเสียง และเห็นด้วยที่ทราบข่าวว่านายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล จะไปพบและหารือกับสมาชิกวุฒิสภา อีกทั้งกรณีศาลรัฐธรรมนูญมีมติเกี่ยวกับกฎหมายการอุ้มหายว่ารัฐบาลเองต้องแสดงความรับผิดชอบด้วย ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่แทรกเข้ามา

ด้านนายวันวิชิต บุญโปร่ง มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า การที่ประชาชน 3 ล้านคนที่ร่วมโหวตเป็นการสะท้อนว่าสังคมกำลังเดินหน้าไปสู่สังคมของพลเมืองมีส่วนร่วม หรือการเมืองภาคประชาชนกำลังเริ่มเกิดและเข้มแข็งขึ้น เป็นโอกาสที่ดีที่สุดของวุฒิสมาชิกใน 1 ปีสุดท้ายที่จะช่วยประคับประคองและร่วมตรวจสอบรัฐบาล ทั้งนี้ ในช่วงท้าย นายปริญญาตอบคำถามสื่อมวลชนในประเด็นการถือหุ้นสื่อของนายพิธา ซึ่งหาก กกต. จะพิจารณา ควรส่งต่อศาลรัฐธรรมนูญ และ กกต. ควรดำเนินการเฉพาะเรื่องเกี่ยวกับการทุจริตเลือกตั้งเท่านั้น

ทั้งนี้ ในทางกฎหมายไม่ได้ระบุว่าหัวหน้าพรรคต้องเป็น ส.ส. ดังนั้น การเซ็นรับรองคุณสมบัติผู้สมัคร ส.ส. ของนายพิธา จึงไม่เกี่ยวข้องกับสถานะความเป็น ส.ส. ของนายพิธา ส่วนการจัดตั้งรัฐบาลในขณะนี้ พรรคร่วมรัฐบาลต้องช่วยหาเสียงสนับสนุนด้วย เพราะชัยชนะครั้งนี้ไม่ใช่ของพรรคก้าวไกลเท่านั้น แต่เป็นชัยชนะของพรรคการเมืองในฝั่งประชาธิปไตย