นักวิชาการแนะลดวงเงินดิจิทัลมุ่งเป้ากลุ่มรายได้น้อย 15 ล้านคน คาดใช้งบ 1.5 แสนล้านบาท

169
0
Share:
นักวิชาการแนะลดวง เงินดิจิทัล มุ่งเป้า กลุ่มรายได้น้อย 15 ล้านคน คาดใช้งบ 1.5 แสนล้านบาท

นายอนุสรณ์ ธรรมใจ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเศรษฐกิจดิจิทัล การลงทุน และการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า การปรับลดขนาดและวงเงินดิจิทัลวอลเล็ตลงมาช่วยลดความเสี่ยงทางการคลังในอนาคตลงมาได้ แม้จะทำให้อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจปีหน้าลดลงบ้าง แต่จะให้อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจมีเสถียรภาพมากกว่าในระยะปานกลาง หากมุ่งเป้าไปที่กลุ่มผู้มีรายได้น้อยประมาณ 15 ล้านคน จะใช้เงินงบประมาณ 1.5 แสนล้านบาท และอาจไม่จำเป็นต้องกู้เงินเลย และผลต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจไม่มีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างมีนัยยะสำคัญเมื่อเปรียบเทียบกับการแจกเงินแบบถ้วนหน้า 56 ล้านคน หรือตัดคนที่มีเงินเดือนเกินกว่า 25,000 บาท และ/หรือมีบัญชีเงินฝากเกิน 1 แสนบาทออก เหลือผู้มีสิทธิประมาณ 43 ล้านคน ใช้งบประมาณ 4.3 แสนล้านบาท หรือตัดผู้มีเงินเดือนเกินกว่า 50,000 บาท และ/หรือมีบัญชีเงินฝากกว่า 5 แสนบาท เหลือผู้มีสิทธิ 49 ล้านคน ใช้งบประมาณ 4.9 แสนล้านบาท

การแจกเฉพาะกลุ่มเน้นไปที่คนยากจนหรือชนชั้นกลางรายได้ต่ำมีแนวโน้มใช้จ่ายมากและเร็ว มักซื้อสินค้าจำเป็นภายในประเทศ มีความจำเป็นและมีปัญหาสภาพคล่อง จะทำให้ประสิทธิภาพและประสิทธิผลของโครงการแจกเงินเพิ่มขึ้น รวมทั้งทำให้ต้นทุนงบประมาณโครงการแจกเงินลดลง นโยบายแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ตต้องดูทั้งมิติทางด้านมหภาคและจุลภาค ต้องมีมาตรการอื่นๆ ด้านจุลภาคเสริมให้เงินแจกที่ประชาชนได้รับกลายเป็นการลงทุนขนาดเล็กในระดับชุมชนมากกว่าแปลงเป็นการบริโภคเพียงอย่างเดียว

หากไม่แจกเงินถ้วนหน้า รัฐบาลควรปรับเกณฑ์คัดกรองคนมีรายได้สูงนอกเหนือจากเกณฑ์เงินฝากและเงินเดือน รัฐบาลควรนำสินทรัพย์อื่นๆ และภาระหนี้สินมาร่วมพิจารณา เช่น การถือครองที่ดิน การถือครองอสังหาริมทรัพย์ เงินลงทุนในตลาดการเงิน การถือครองพันธบัตรและหุ้น ภาระหนี้สิน เป็นต้น มาเป็นเกณฑ์ในการคัดกรอง การตัดคนที่เงินเดือนเกินกว่า 25,000 บาทออกแต่ยังใช้งบประมาณมากกว่า 4.3 แสนล้านบาท เนื่องจากคนจ่ายภาษีเงินได้บุคคลธรรมดามีอยู่ประมาณ 4 ล้านกว่าคนจากกำลังแรงงานทั้งหมดเกือบ 40 ล้านคนนั้น การที่คนเสียภาษี 4 ล้านคนนี้แบกรับภาระมาตรการแจกเงิน เกิดประเด็นทางนโยบายสาธารณะว่า เราควรพัฒนาระบบภาษีให้เป็นธรรม และขยายฐานภาษีให้กว้างขวางขึ้นและเร่งแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจโดยด่วน

ปัญหาของการไม่แจกถ้วนหน้า คือต้นทุนการบริหารการแจกเงินสูงขึ้นและอาจยุ่งยากในการคัดกรองหากข้อมูลไม่ครบถ้วน ผู้ที่ประกอบอาชีพอิสระหรือไม่ได้อยู่ในฐานข้อมูลการเสียภาษีเงินได้จำนวนหนึ่งอาจมีเงินเดือนมากกว่า 25,000 บาทก็ได้ แต่อาจไม่ได้ถูกคัดออก หรือบางคนอาจมีเงินเดือนสูงกว่า 25,000 บาทแต่มีภาระหนี้สินมาก อาจถูกคัดออกทั้งที่ควรได้รับเงินแจก หรือบางคนมีเงินเดือนต่ำกว่า 25,000 บาท เงินฝากต่ำกว่า 1 แสนบาท แต่มีทรัพย์สินอย่างอื่นจำนวนมาก อาจไม่มีความจำเป็นต้องได้รับเงินแจก ฐานคนเสียภาษีต่ำทำให้การใช้เงินงบประมาณยังสูงอยู่มาก คัดคนมีรายได้สูงออกมากเท่าไร ตัวทวีคูณทางการคลังเฉลี่ยเพิ่มขึ้น เพราะผู้มีรายได้น้อยมากเท่าไร จะมีความโน้มเอียงในการบริโภคสูงขึ้นเท่านั้น