นักเศรษฐศาสตร์แนะวิธีแจกเงินดิจิทัล ควรตั้งเพดานรายครั้ง-เน้นร้านค้าย่อย

201
0
Share:
นักเศรษฐศาสตร์แนะวิธี แจกเงินดิจิทัล ควรตั้งเพดานรายครั้ง-เน้นร้านค้าย่อย

รศ.อธิภัทร มุทิตาเจริญ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ และผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงนโยบายแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาทว่า อยากให้รัฐบาลออกแบบวิธีการแจกเงินอย่างระมัดระวังและให้มีประสิทธิผลสูงสุด เนื่องจากฐานะทางการคลังของประเทศไทยไม่ได้แข็งแกร่งเหมือนเมื่อก่อน โดยต้นทุนของนโยบายดิจิทัลวอลเล็ตกว่า 5 แสนล้านบาท จะคิดเป็นต้นทุนทางการคลังประมาณ 3.5% ของจีดีพีไทย

วิธีการแจกเงินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นบนโลกนี้อาจแบ่งได้เป็นสองแบบกว้าง ๆ แบบแรกคือ การแจกเงินแบบดั้งเดิม (Traditional Cash Stimulus) เป็นการให้เงินทั้งก้อนโดยตรง โดยไม่กำหนดวิธีการใช้จ่ายใดๆ ซึ่งมักได้ประสิทธิผลต่ำ เนื่องจากประชาชนมักไม่นำเงินไปใช้จ่ายทั้งหมดในทันที หรืออาจนำไปออมแทน อีกทั้งมีโอกาสนำเงินไปซื้อสินค้าใหญ่ชิ้นเดียว ทำให้ไม่เกิดการกระจายเงินอย่างทั่วถึง

ส่วนแบบที่สอง คือ การแจกเงินเพื่อการบริโภคโดยเฉพาะ (Consumption-mandated Stimulus) เป็นที่นิยมในยุคที่เทคโนโลยีก้าวหน้ามากขึ้น ผ่านการใช้ดิจิทัลแพลตฟอร์มมาเป็นตัวกลางในการกำหนดเงื่อนไขการใช้จ่ายและกลุ่มเป้าหมาย ยกตัวอย่างเช่น ประเทศจีนที่มีการให้คูปองดิจิทัลผ่านการกำหนดเงื่อนไขการจ่ายร่วม (Co-payment) โดยรัฐจะให้คูปองส่วนลดเมื่อประชาชนใช้จ่ายถึงยอดที่กำหนด และประเทศไทยที่รัฐร่วมจ่ายครึ่งหนึ่งในโครงการคนละครึ่งผ่านแอพเป๋าตัง

รศ.อธิภัทร ได้ร่วมกับ LINE MAN Wongnai ในการทำวิจัยเรื่อง Digital Fiscal Stimulus, SMEs, and the Consumer: Insights from Thailand’s Half and Half program เพื่อศึกษาผลกระทบของโครงการคนละครึ่งต่อพฤติกรรมของร้านค้าและผู้บริโภค ผลการวิจัยชี้ว่า ร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการมียอดขายเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดเมื่อเปรียบเทียบกับร้านค้าที่ไม่เข้าร่วม โดยกลไกหลักของโครงการคนละครึ่งคือ การขยายฐานลูกค้าให้แก่ร้านที่เข้าร่วมโครงการ นอกจากนี้ อีกข้อค้นพบที่สำคัญคือ แม้จะจบโครงการไปแล้ว แต่ยอดขายของร้านค้าที่เข้าร่วมยังคงเพิ่มขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับก่อนเข้าโครงการ เพราะร้านค้าเป็นที่รู้จักมากขึ้น ได้ฐานลูกค้าที่กว้างขึ้น

สำหรับนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต หากรัฐบาลไม่ต้องการให้ผู้บริโภคร่วมจ่ายด้วยเหมือนคนละครึ่ง ก็ควรกำหนดเงื่อนไขให้มีเพดานจำกัดการใช้จ่ายในแต่ละครั้ง ไม่ให้ใช้ทีเดียวหมด จะเป็นการกระจายฐานลูกค้าไปยังร้านค้าอื่น ยิ่งหากโฟกัสที่ร้านค้าขนาดเล็ก จะมีโอกาสสร้างผลกระทบเชิงบวกในระยะยาวอย่างที่รัฐบาลคาดหวังไว้ ควรเป็นการกำหนดให้ซื้อเฉพาะสินค้าไม่คงทน เช่น อาหาร แต่หากอนุญาตให้ซื้อสินค้าคงทนได้แบบครั้งเดียวจบ เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้าหรืออุปกรณ์อิเลกทรอนิกส์

นอกจากนี้ รศ.อธิภัทร แสดงความกังวลว่าวินัยการคลังที่เคยเป็นจุดแข็งของประเทศไทยมาตลอดกำลังกลายเป็นจุดอ่อน โดยชี้ว่าการหาแหล่งเงินเพื่อสนับสนุนโครงการดิจิทัลวอลเล็ตนี้อาจทำให้รัฐต้องปรับแก้กรอบวินัยที่ควบคุมการกู้เงินต่างๆ ซึ่งหากรัฐบาลไม่สามารถหาข้อสนับสนุนการกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่นี้ได้แข็งแรงเพียงพอ ความพยายามที่จะแก้กรอบวินัยการคลังเหล่านี้อาจทำให้สถาบันจัดอันดับความเสี่ยงต่างๆ ลดอันดับความน่าเชื่อถือของรัฐบาลได้ ซึ่งจะส่งผลต่อต้นทุนการกู้ยืมของประเทศในอนาคต