นายกรัฐมนตรีส่งสัญญาณคลายล็อกดาวน์

743
0
Share:

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี หรือ ครม. ว่า มีความจำเป็นต้องมีการต่ออายุ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ออกไปอีก 1 เดือน และหลายข้อกำหนดที่ยังคงสภาพอยู่ เช่น เรื่องของการเคลื่อนย้าย เรื่องของการควบคุมการแพร่ระบาดของสถานการณ์ไวรัสโควิด 19 อีกส่วนหนึ่งจะมีเรื่องของมาตรการผ่อนคลาย ปลดล็อกในกิจกรรมต่าง ๆ ซึ่งขณะนี้ได้มีคณะกรรมการศึกษา ทำรายละเอียดในเรื่องเหล่านี้มาว่า กิจกรรมใดควรจะมีการผ่อนปรนบ้าง ในระยะต่อไปก็ขอให้รอฟังการแถลงข่าวอีกครั้งหนึ่งโดยคณะกรรมการชุดนี้ส่วนร่วมของหลายภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ธุรกิจ รวมถึงกระทรวงมหาดไทยที่เกี่ยวข้องกับประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ
.
โดยหลักการพิจารณาของคณะกรรมการที่ได้มอบหมายไป ต้องเอากิจกรรมทั้งหมดที่อยู่ใน กทม. และต่างจังหวัดมาพิจารณาว่าใน 100% มีอะไรอยู่บ้าง ซึ่งใน 100% จะมีการแบ่งเป็น 4 ระยะ ทั้งนี้ ในแต่ละช่วงจะมีการเว้น 14 วัน เพื่อให้มีการประเมินว่าหลังจากผ่อนปรนไปแล้ว จะมีการแพร่ระบาดหรือไม่ จำเป็นต้องกลับมาปิดอีกหรือไม่ ทั้งนี้ จะมีการประกาศเมื่อถึงเวลาว่าอะไรจะผ่อนคลายในระยะที่ 1 ได้บ้าง โดยพิจารณากิจกรรมที่มีความจำเป็น และมีความเสี่ยงน้อยก่อน
.
จะมีมาตรการคู่มือ ตรวจสอบการประเมินผล รวมถึงมีมาตรการสาธารณสุข ดังนั้น สถานประกอบการต้องเตรียมการของตนเองให้พร้อม ทุกท่านจะเพิ่มเติมมาตรการได้ เพื่อให้พื้นที่ที่ประกอบกิจการปราศจากโควิด-19 รายละเอียดจะแจ้งเร็วๆ นี้ วันนี้ขอให้อย่าเพิ่งเรียกร้องมากนักเลย
.
ขณะนี้พิจารณาเรื่องแนวนโยบาย ส่วนแนวปฏิบัติต้องฟังจากท้องที่คือกระทรวงมหาดไทย ซึ่งใกล้ชิดกับประชาชนมากที่สุด แต่ต้องระวังการแพร่ระบาด ไม่เช่นนั้นทุกสิ่งที่ปฏิบัติมาจะเสียเปล่าโดยสิ้นเชิง
.
ส่วนวันหยุดราชการในเดือน พ.ค.นั้น ครม.ให้หยุดตามปกติ วันหยุดของรัฐวิสาหกิจหรือวันแรงงาน ก็ว่ากันตามเดิม แต่ต้องมีมาตรการป้องกัน social distancing ต้องเข้มงวด ต้องดูแลให้ดีที่สุด ขณะเดียวกัน มาตรการการห้ามเข้า-ออกประเทศ ทั้งบก น้ำ อากาศ ยังเป็นไปตามเดิม การงด หรือชะลอการเข้าพื้นที่ยังคงอยู่ รวมถึงระยะเวลาการเคอร์ฟิว 22.00-04.00 น.
.
ที่สำคัญทราบดีถึงความลำบากของประชาชนทุกคน เคยบอกไว้แล้วว่าท่านลำบาก ผมก็ลำบาก เข้าใจดีถึงผู้มีรายได้น้อย จึงมีมาตรการเยียวยา ในครั้งแรกคาดการณ์ว่ามี 3 ล้านคน แต่ปัจจุบันเพิ่มขึ้นเป็นหลายสิบล้านคน ต้องทยอยดำเนินการตามสัดส่วนงบประมาณที่มีในปัจจุบัน ในเรื่องรายจ่ายประจำ งบกลางที่เหลืออยู่ รวมถึง พ.ร.ก.เงินกู้ ซึ่งต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จทันเวลาการเยียวยา อย่างน้อยดูแลทุกภาคส่วน เกษตรกร แรงงานในระบบ นอกระบบ แม้กระทั่งกลุ่มเปราะบางก็พิจารณาอยู่ในวันนี้