บาททรงตัว! ราคาน้ำมันดิบปรับขึ้นช่วงนี้กดดันเงินบาทอ่อนค่า ผ่านการขาดดุลมากขึ้น

200
0
Share:
บาททรงตัว! ราคา น้ำมันดิบ ปรับขึ้นช่วงนี้กดดัน เงินบาท อ่อนค่า ผ่านการขาดดุลมากขึ้น

นักบริหารเงินจากธนาคารกรุงศรีอยุธยา เปิดเผยว่า เงินบาทเปิดตลาดเช้านี้อยู่ที่ 35.48 บาท/ดอลลาร์ ปรับตัวอ่อนค่าต่อ เนื่องจากปิดตลาดเย็นวานนี้ที่ระดับ 35.46 บาท/ดอลลาร์ เคลื่อนไหวในทิศทางเดียวกับภูมิภาคและตลาดโลก เนื่องจากดอลลาร์ปรับตัว แข็งค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก ตามทิศทางบอนด์ยีลด์ที่สูงขึ้น

โดยเงินบาทได้รับปัจจัยกดดันให้อ่อนค่าจากการนำเข้าน้ำมันที่มีราคาสูงขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งไม่ได้มาจากความต้องการที่เพิ่มขึ้น แต่มาจากรัสเซียและซาอุดิอาระเบียได้ประกาศลดกำลังการผลิต อีกทั้งมีแรงขายบาทจากผู้นำเข้าทองคำหลังราคาทองคำในตลาดโลกปรับตัวลด ลง 14 ดอลลาร์/ออนซ์

“บาทน่าจะแกว่งตัวในทิศทางอ่อนค่าตามแรงขาย แต่ระหว่างวันอาจมีการพักรอ เนื่องจากบาทอ่อนค่าขึ้นมามากแล้ว” นักบริหารเงิน กล่าว

ทั้งนี้ นักบริหารเงินประเมินกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทในวันนี้ไว้ที่ 35.30-35.60 บาท/ดอลลาร์

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า “ค่าเงินบาทวันนี้” เปิดเช้านี้ที่ระดับ35.47 บาทต่อดอลลาร์ “ทรงตัวไม่เปลี่ยนแปลง” จากระดับปิดวันก่อนหน้า มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 35.40-35.60 บาทต่อดอลลาร์ โดยในช่วงคืนก่อนหน้า ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวผันผวนในกรอบ sideway (แกว่งตัวในช่วง 35.43-35.49 บาทต่อดอลลาร์) ตามทิศทางของเงินดอลลาร์และราคาทองคำ

“เงินบาท” ยังคงเผชิญแรงกดดันฝั่งอ่อนค่าจากโฟลว์ธุรกรรมซื้อทองคำในจังหวะย่อตัว ขณะเดียวกันการปรับตัวขึ้นอย่างต่อเนื่องของราคาน้ำมันดิบในช่วงนี้ก็เป็นอีกปัจจัยที่กดดันเงินบาท ผ่านแนวโน้มดุลการค้าที่อาจขาดดุลมากขึ้น หากการส่งออกของไทยยังคงซบเซา ทั้งนี้ การอ่อนค่าของเงินบาทยังคงจำกัดอยู่ในโซนแนวต้าน 35.50 บาทต่อดอลลาร์ จากแรงขายเงินดอลลาร์ของผู้เล่นในตลาดบางส่วน

สำหรับแนวโน้มค่าเงินบาท มองว่า เงินบาทยังมีโอกาสผันผวนอ่อนค่าทดสอบโซนแนวต้านสำคัญ 35.50 บาทต่อดอลลาร์ จากทั้งการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ ซึ่งในช่วงนี้ก็ได้แรงหนุนจากทั้งความต้องการสินทรัพย์ปลอดภัยในช่วงตลาดผันผวน และการปรับมุมมองของผู้เล่นในตลาดต่อแนวโน้มการดำเนินนโยบายการเงินของเฟด ขณะเดียวกันโฟลว์ธุรกรรมซื้อทองคำในจังหวะย่อตัวก็มีส่วนยิ่งกดดันเงินบาทในระยะนี้ นอกจากนี้การปรับตัวขึ้นของราคาน้ำมันดิบอย่างต่อเนื่องก็กลับมากดดันเงินบาทผ่านความกังวลแนวโน้มการขาดดุลการค้าของไทยในช่วงที่การส่งออกยังคงซบเซา รวมถึงความกังวลว่าอัตราเงินเฟ้อในหลายประเทศ โดยเฉพาะฝั่งสหรัฐฯ อาจชะลอลงยากจนทำให้เฟดต้องใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดมากขึ้น หรือ คงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับสูงได้นาน

ทั้งนี้ ควรจับตาทิศทางฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติว่าจะทยอยกลับเข้ามาซื้อสินทรัพย์ไทยบ้างหรือไม่ โดยเฉพาะในฝั่งหุ้น หลังดัชนี SET ได้ย่อตัวลงมาพอสมควร ขณะที่หุ้นกลุ่มพลังงานซึ่งเป็นสัดส่วนใหญ่ในตลาดหุ้นไทย ก็มีแนวโน้มปรับตัวขึ้นได้ ตามแรงหนุนจากการปรับตัวขึ้นของราคาน้ำมันดิบ โดยหากนักลงทุนต่างชาติทยอยกลับเข้าซื้อหุ้นไทยบ้าง (Buy on Dip) ก็อาจช่วยชะลอการอ่อนค่าของเงินบาทในระยะสั้นได้เช่นกัน