บาทยับอ่อนลง! เงินบาทอ่อนค่าตามภูมิภาค หลังบอนด์ยีลด์สหรัฐพุ่งหนุนดอลลาร์แข็งค่า

130
0
Share:
เงินบาท

นักบริหารเงินจากธนาคารกรุงศรีอยุธยา เปิดเผยว่า เงินบาทเปิดตลาดเช้านี้อยู่ที่ 36.40 บาท/ดอลลาร์ ปรับตัวอ่อนค่าจากปิดตลาดเย็นวานนี้ที่ระดับ 36.31 บาท/ดอลลาร์ เคลื่อนไหวในทิศทางเดียวกับภูมิภาคและตลาดโลก เนื่องจากดอลลาร์ได้รับปัจจัยหนุนให้ แข็งค่าจากการปรับขึ้นของบอนด์ยีลด์ที่ทำสถิติสูงสุดในรอบ 16 ปี ประกอบกับการเข้าถือครองสินทรัพย์ปลอดภัยของนักลงทุนจากความกังวล เกี่ยวกับการสู้รบในตะวันออกกลาง โดยประเมินกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทในวันนี้ไว้ที่ 36.30 – 36.55 บาท/ดอลลาร์ โดยต้องจับตาดู ทิศทางของกระแสเงินทุนต่างประเทศ (Flow)

บาทปรับตัวอ่อนค่าจากเย็นวานนี้เกือบ 10 สตางค์ หลังมีปัจจัยหนุนให้ดอลลาร์แข็งค่า เนื่องจากบอนด์ยีลด์ทำนิวไฮในรอบ 16 ปี และความกังวลเรื่องสงครามนักบริหารเงิน กล่าว

ด้านนายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทวันนี้ เปิดเช้านี้ ที่ระดับ36.38 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่าลง” จากระดับปิดวันก่อนหน้าที่ระดับ 36.29 บาทต่อดอลลาร์ มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 36.25-36.55 บาทต่อดอลลาร์ โดยในช่วงคืนก่อนหน้า ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวผันผวนในลักษณะทยอยอ่อนค่าลง (แกว่งตัวในช่วง 36.23-36.41 บาทต่อดอลลาร์โดยมีจังหวะอ่อนค่าลงตามภาวะปิดรับความเสี่ยงของตลาดการเงินจากสถานการณ์สงครามอิสราเอลฮามาสที่ยังคงร้อนแรง ซึ่งหนุนให้เงินดอลลาร์ทยอยแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องตามความต้องการสินทรัพย์ปลอดภัย 

ขณะเดียวกัน ความกังวลผลกระทบจากสงคราม รวมถึงภาพรวมเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ยังดูดีอยู่ ทำให้ผู้เล่นในตลาดต่างกังวลกับแนวโน้มดอกเบี้ยนโยบายของเฟดอาจอยู่ในระดับสูงได้นาน (Higher for Longer) ก็ส่งผลให้บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 4.90% อีกครั้ง อย่างไรก็ดีการอ่อนค่าของเงินบาทก็ถูกชะลอลงจากโฟลว์ธุรกรรมขายทำกำไรทองคำ หลังราคาทองคำปรับตัวขึ้นต่อเนื่องจากความเสี่ยงสงคราม 

สำหรับ แนวโน้มค่าเงินบาทอาจเผชิญแรงกดดันฝั่งอ่อนค่าเพิ่มเติม ท่ามกลางภาวะปิดรับความเสี่ยงของตลาดการเงิน จากสถานการณ์สงครามอิสราเอลกลุ่มฮามาส ที่มีแนวโน้มทวีความรุนแรงและบานปลายมากขึ้น ซึ่งความกังวลดังกล่าว ได้ส่งผลให้ เงินดอลลาร์พลิกกลับมาแข็งค่าขึ้นพอสมควร อย่างไรก็ดี เงินบาทอาจพอได้แรงหนุนอยู่บ้าง จากโฟลว์ธุรกรรมขายทำกำไรทองคำ หลังราคาทองคำก็ปรับตัวขึ้นตามความเสี่ยงภาวะสงคราม ทั้งนี้ ฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติที่ยังมีความผันผวนสูง ก็อาจเป็นอีกปัจจัยที่กดดันให้เงินบาท สามารถผันผวนอ่อนค่าได้ หากนักลงทุนต่างชาติยังคงเทขายสินทรัพย์ไทย อนึ่ง เราประเมินว่า แรงขายสินทรัพย์ไทยจากนักลงทุนต่างชาติ อาจไม่ได้รุนแรงมากนัก เนื่องจากดัชนี SET ได้ปรับตัวลดลงมาสู่ระดับที่ valuation ก็ไม่แพง และเป็นโซนแนวรับสำคัญในเชิงเทคนิคัล ส่วนบอนด์ยีลด์ไทยก็อาจไม่ได้ปรับตัวขึ้นต่อไปมากนัก (คาดว่า ผู้เล่นในตลาดต่างก็รอความชัดเจนของมาตรการ Digital Wallet)

ทั้งนี้ ควรระวังความผันผวนในช่วงตลาดทยอยรับรู้ถ้อยแถลงของประธานเฟด เนื่องจากผู้เล่นในตลาดก็เริ่มให้น้ำหนักเฟดเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อในการประชุมเดือนธันวาคม หรือ การประชุมในช่วงต้นปีหน้า มากขึ้น และมองว่า เฟดอาจลดดอกเบี้ยลงเพียง -50bps ในปีหน้า ซึ่งหากถ้อยแถลงของประธานเฟด ทำให้มุมมองของผู้เล่นในตลาดต่อแนวโน้มดอกเบี้ยเฟดเปลี่ยนแปลงไป ก็อาจกระทบต่อตลาดการเงินได้พอสมควร