ประกาศห้ามขาย”เครื่องดื่มแอลกอฮอล์”ทั้งจังหวัด

433
0
Share:

ประกาศห้ามขาย”เครื่องดื่มแอลกอฮอล์”ทั้งจังหวัด หลังพบโควิดระบาดในกลุ่มมั่วสุมดื่มสุรา
.
นายสุธี ทองแย้ม ผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรี ในฐานะ ผู้กำกับการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินจังหวัดจันทบุรี ลงนามในคำสั่งจังหวัดเรื่อง ห้ามจำหน่าย จ่าย แจก หรือแลกเปลี่ยน สุราและเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ทุกประเภท
.
โดยระบุว่า ด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในพื้นที่จังหวัดจันทบุรียังพบผู้ติดเชื้ออย่างต่อเนื่องและยังไม่มีแนวโน้มลดลง โดยพบการแพร่ระบาดในกลุ่มผู้ร่วมจัดเลี้ยงสังสรรค์ในงานประเพณี และพิธีการต่าง ๆ รวมถึงพบการระบาดในกลุ่มตั้งวงดื่มสุราเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ ในสถานที่ทำงาน เคหสถาน หรือสถานที่ต่างๆ พฤติการณ์ดังกล่าวทำให้พบผู้ติดเชื้อเป็นกลุ่มก้อนจำนวนมากและยังไม่สามารถควบคุมโรคได้ ซึ่งส่งผลกระทบต่อระบบการบริการสาธารณสุข การดำเนินชีวิต และการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในภาพรวมเพื่อเป็นการควบคุมและระงับยับยั้งการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 จากพฤติการณ์ดังกล่าว
.
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 22 และมาตรา 34 แห่งพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 ข้อ 7 (1) ของข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 1) ลงวันที่ 25 มีนาคม 2563 ข้อกำหนดฯ (ฉบับที่ 30) ลงวันที่ 28 สิงหาคม 2564 และข้อกำหนดๆ (ฉบับที่ 34) ลงวันที่ 28กันยายน 2564 ผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรีโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการโรคติดต่อ จังหวัดจันทบุรี ในการประชุม ครั้งที่ 4/2564 เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2563 จึงยกเลิกความในข้อ 1.1 (1) ของคำสั่งจังหวัดจันทบุรี ที่ 2629/2564 ลงวันที่ 30 สิงหาคม 2564 โดยให้ถือปฏิบัติตามมาตรการ ดังนี้
.
ข้อ1 ห้ามจำหน่าย จ่าย แจก หรือแลกเปลี่ยน สุราและเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ทุกประเภท
ในห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า คอมมูนิตี้มอลล์ ร้านค้าทั่วไป ร้านขายของชำ ร้านสะดวกซื้อ หรือกิจการที่มีลักษณะทำนองเดียวกัน ร้านจำหน่ายอาหารหรือเครื่องดื่ม ร้านอาหารที่ดำเนินการในลักษณะที่เป็นรถเข็น หาบเร่ แผงลอย หรือร้านอาหารที่มีลักษณะอื่นใดในทำนองเดียวกัน รวมทั้งมั่วสุมกันเพื่อการจำหน่าย จ่าย แจก หรือแลกเปลี่ยนเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ทุกประเภท ในบริเวณสถานที่สาธารณะ ในเคหสถาน หรือสถานที่อื่นใด
.
ข้อ 2 ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง ตำรวจ พนักงานเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง
เจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ และพนักงานเจ้าหน้าที่อื่นที่มีหน้าที่รับผิดชอบ ตรวจสอบการดำเนินการตามมาตรการที่กำหนด และให้นายอำเภอมอบหมาย กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ตรวจตราสอดส่องการดำเนินการ ในพื้นที่หมู่บ้าน/ชุมชน หากพบว่ามีการฝ่าฝืนให้ดำเนินการตามกฎหมาย หรือแจ้งนายอำเภอ ตำรวจ หรือผู้ที่ได้รับมอบหมาย หรือพนักงานเจ้าหน้าที่อื่นที่เกี่ยวข้อง เพื่อดำเนินการตามกฎหมายต่อไป
.
ผู้ใดฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามคำสั่งนี้ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองหมื่นบาท ตามมาตรา 51 แห่งพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 และอาจต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ตามมาตรา 18 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ตั้งแต่วันที่ 7 ต.ค. ถึง วันที่ 31 ต.ค.2564 เป็นต้นไป