ปิดธุรกิจร้านสมูทตี้ Squeeze by Tipco หลังเปิดมานานเกือบ 20 ปี ขยายสาขาไม่เข้าเป้า

209
0
Share:
ปิด ธุรกิจร้านสมูทตี้ Squeeze by Tipco สควีส บาย ทิปโก้ หลังเปิดมานานเกือบ 20 ปี ขยายสาขาไม่เข้าเป้า

เมื่อคืนผ่านมา 8 พฤศจิกายน 2566 เฟซบุ๊ก “Squeeze by Tipco” ซึ่งร้านขายเครื่องดื่มน้ำผลไม้สไตล์สมูทตี้ในเครือบริษัททิปโก้ โพสต์ภาพและข้อความเกี่ยวกับการปิดธุรกิจ มีดังนี้ “Squeeze by Tipco ขอขอบพระคุณลูกค้าทุกท่านที่อยู่กับเราตลอด 20 ปีที่ผ่านมา ถึงเวลาต้องจากลากันแล้ว

Squeeze by Tipco แบรนด์สมูทตี้ ผลไม้แท้เต็มแก้ว ระดับพรีเมี่ยม เปิดให้บริการมาถึง 20 ปี เราบริการลูกค้าและเสิร์ฟสมูตตี้ที่ดีที่สุด เพื่อให้ลูกค้าพึงพอใจที่สุด พวกเรา Squeeze by Tipco จะเปิดให้บริการวันสุดท้าย คือ 28 พฤศจิกายน 2566 ทุกสาขา

ขอขอบคุณลูกค้าทุกท่าน ที่ร่วมเป็นความทรงจำดีๆ ของชาว Squeeze by Tipco ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ขอบคุณทั้งคำชื่นชม และคำติชมต่างๆ ที่ทำให้ Squeeze by Tipco ปรับปรุงและพัฒนาขึ้นมาจนถึงตอนนี้ Squeeze by Tipco จะบริการลูกค้าทุกคนอย่างเต็มที่และสร้างความทรงจำดีๆ ให้ลูกค้า จนถึงวันสุดท้ายที่เราให้บริการ

สำหรับ Squeeze by Tipco เป็นธุรกิจในเครือบริษัท ทิปโก้ฟูดส์ จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นเจ้าของแบรนด์น้ำผลไม้บรรจุพร้อมดื่มยี่ห้อทิปโก้ ได้เปิดตัวร้านขายเครื่องดื่มน้ำผลไม้ระดับพรีเมี่ยม หรือสมูทตี้บาร์ขึ้นมาภายใต้แบรนด์ “SQUEEZE by Tipco” เมื่อปี 2547 เพื่อสอดรับกับกระแสคนรักสุขภาพที่นิยมต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตาม ร้าน “Squeeze by Tipco” เติบโตช้ากว่าเป้าหมายที่กำหนดเอาไว้ สาเหตุจากใน 2-3 ปีผ่านมา เกิดวิกฤตการณ์โรคระบาดของโควิด-19 รวมถึงตลาดเครื่องดื่มผลไม้เพื่อสุขภาพในเมืองไทยมีการแข่งขันกันสูงมาก จึงทำให้บริษัทขยายสาขาร้านได้เพียงจำนวนทั้งหมด 34 สาขา ประกอบด้วยสาขาที่บริษัทดำเนินการเอง 11 สาขา และสาขาแฟรนไชส์ 23 สาขา ดังนั้น บริษัทจึงได้เข้ามาทำตลาดอย่างจริงจังเมื่อปี 2560 โดยตั้งเป้าเพิ่ม 100 สาขาใน 3 ปีถึงปี 2563

ข้อมูลที่เกี่ยวกับการซื้อแฟรนไชส์ Squeeze by Tipco ระบุว่า ใช้เงินลงทุนเริ่มต้นราว 300,000 บาท ให้บริการโมเดลในการทำธุรกิจ เช่น สูตรเครื่องดื่ม การอบรมพนักงาน การตกแต่งร้าน การบริหารจัดการร้าน แฟรนไชส์มีระยะสัญญา 3 ปี และต่ออายุอีก 3 โดยเป็นการต่อสัญญาอัตโนมัติ ซึ่งต้องขึ้นอยู่กับการตกลง บริษัทดังกล่าวเรียกเก็บค่า Royalty Fee และ Marketing Fee ประมาณ 6% ของยอดขายต่อเดือน สามารถเปิดร้านได้ทั้งรูปแบบคีออส หรือร้านมีโต๊ะนั่ง ซึ่งต้องขึ้นอยู่กับงบลงทุน โดยจุดคุ้มทุนอยู่ที่ 2-3 ปี กำไรจะอยู่ที่ 60-70% ต่อแก้ว