ผิดเป้า! โอสถสภาประกาศกำไรปี 65 ไม่โตตามหวัง ทำได้ 1.9 พันล้านบาทลดลง 40%

297
0
Share:
ผิดเป้า! โอสถสภา ประกาศ กำไร ปี 65 ไม่โตตามหวัง ทำได้ 1.9 พันล้านบาทลดลง 40%

นางวรรณิภา ภักดีบุตร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โอสถสภา จำกัด (มหาชน) หรือ OSP ผู้ดำเนินธุรกิจผลิตและจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภคชั้นนำของประเทศไทย เปิดเผยว่า ภาพรวมการดำเนินงานในปี 2565 บริษัทฯ มีรายได้จากการขาย 27,266 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.9% โดยผลักดันการเติบโตของรายได้จากกลุ่มผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มบำรุงกำลังที่หลากหลาย สามารถตอบสนองต่อความต้องการของผู้บริโภคได้ครอบคลุมทุกกลุ่มเป้าหมาย ทั้งกลุ่มตลาดแมสและตลาดพรีเมียม ส่งผลให้ OSP มีส่วนแบ่งตลาดในกลุ่มผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มบำรุงกำลังมากกว่าคู่แข่ง 2 เท่า โดยมี เอ็ม-150 เป็นผู้นำตลาดที่ครองใจผู้บริโภคมาอย่างต่อเนื่อง เช่นเดียวกันกับผลิตภัณฑ์เครื่องดื่ม ‘ซีวิท’ มีแบ่งสูงถึง 37.9%

ส่วนกลุ่มผลิตภัณฑ์ของใช้ส่วนบุคคลมีอัตราการเติบโต 16.6 % ปัจจัยเชิงบวกจากเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวและกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ดีขึ้นหลังสถานการณ์โควิดคลี่คลาย เช่นเดียวกับตลาดต่างประเทศมียอดขายเครื่องดื่มเติบโต 8.3% โดยเฉพาะ สปป.ลาว กัมพูชา เมียนมา และอินโดนีเซีย

สำหรับกำไรสุทธิ 1,934 ล้านบาทลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 40.6% และมีอัตรากำไรสุทธิอยู่ที่ 7.1% ลดลง 5.1% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยกำไรสุทธิ สำหรับไตรมาสที่ 4 ที่ฟื้นตัว 38.0% จากไตรมาสก่อนอยู่ที่ 337 ล้านบาท จากที่สามารถควบคุมบริหารค่าใช้จ่ายกิจกรรมส่งเสริมการขายและการตลาดและอัตรากำไรขั้นต้นที่ดีขึ้นจากการเพิ่ม

ทั้งนี้ ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทฯ เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2566 จึงมีมติเสนอจ่ายเงินปันผลจากผลการดำเนินงานในปี 2565 ในอัตรา 0.45 บาทต่อหุ้น เป็นจำนวนเงิน 1,352 ล้านบาท โดยแบ่งเป็นการจ่ายเงินปันผลระหว่างกาลงวดครึ่งปีแรกไปแล้วในอัตรา 0.45 บาทต่อหุ้น คงเหลือที่ต้องจ่ายเงินปันผลจากผลการดำเนินงานในครึ่งปีหลังอีก 0.45 บาทต่อหุ้น ซึ่งจะกำหนดรายชื่อผู้มีสิทธิรับเงินปันผลในวันที่ 8 พฤษภาคม 2566 และจะจ่ายเงินปันผลให้แก่ผู้ถือหุ้นในวันที่ 25 พฤษภาคม 2566 โดยจะขออนุมัติจากที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2566 ต่อไป

บริษัทได้วางเป้าหมายการเติบโตปีนี้เป็นเลข 2 หลัก จากแผนดำเนินงานมุ่งพัฒนานวัตกรรมผลิตภัณฑ์ตอบสนองต่อเทรนด์ความต้องการของผู้บริโภคในทุกมิติ การดำเนินกิจกรรมทางการตลาดอย่างต่อเนื่อง รับบรรยากาศการจับจ่ายใช้สอยที่ฟื้นตัวจากความเชื่อมั่นเศรษฐกิจที่ขยายตัวได้ดี ดำเนินโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและการดำเนินงาน พร้อมดำเนินกลยุทธ์มองหาโอกาสการเติบโตจากภายนอก (Inorganic Growth) เพื่อส่งเสริมศักยภาพการดำเนินธุรกิจ