พาณิชย์จับตาเงินเฟ้อหลังตั้งรัฐบาลใหม่ลุ้นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ชี้เงินเฟ้อไทยยังต่ำ

164
0
Share:
พาณิชย์จับตา เงินเฟ้อ หลัง ตั้งรัฐบาล ใหม่ลุ้นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ชี้เงินเฟ้อไทยยังต่ำ

นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า เปิดเผยถึงสถานการณ์เงินเฟ้อของโลกในปี 2566 ที่ปรับตัวดีขึ้น โดยอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ย 6 เดือนแรก ปี 2566 ของไทยอยู่ที่ร้อยละ 2.49 ต่ำเป็นอันดับ 9 ของโลกจาก 130 เขตเศรษฐกิจที่มีการประกาศตัวเลข ขณะที่ช่วงครึ่งปีหลังอัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มอยู่ในระดับต่ำ สาเหตุสำคัญมาจากฐานการคำนวณที่สูง ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่ปรับตัวลดลงเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ผลจากการดำเนินมาตรการของภาครัฐทั้งมาตรการทางด้านการเงิน การคลัง และมาตรการลดค่าครองชีพอื่นๆ รวมไปถึงการชะลอตัวทางเศรษฐกิจของหลายเขตเศรษฐกิจทั่วโลก

ตลอดช่วง 5 ปีที่ผ่านมา (ปี 2562–2566) โลกเผชิญกับสถานการณ์ที่ส่งผลกระทบต่อราคาสินค้าและบริการในวงกว้างอยู่หลายครั้ง ไม่ว่าจะเป็นสงครามทางการค้า โรคอุบัติใหม่ โดยเฉพาะโควิด-19 ที่ส่งผลให้หลายเขตเศรษฐกิจประกาศใช้มาตรการล็อคดาวน์ประเทศเพื่อป้องกันการระบาดของโควิด–19 การดำเนินธุรกิจต้องหยุดชะงัก

อุปสงค์ลดลง ทำให้ราคาสินค้าและบริการลดลงอย่างมาก จนอัตราเงินเฟ้อของหลายเศรษฐกิจอยู่ในระดับต่ำ อย่างไรก็ตาม เมื่อการแพร่ระบาดของโควิด–19 คลี่คลาย เศรษฐกิจเริ่มกลับมาฟื้นตัว และมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐออกมาอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ภาคการผลิตและภาคการขนส่งบางส่วนฟื้นตัวแบบค่อยเป็นค่อยไป ประกอบกับเกิดโรคระบาดในปศุสัตว์ และสภาพอากาศที่แปรปรวน ทำให้ราคาสินค้าและบริการบางประเภท อาทิ น้ำมัน ค่าบริการขนส่งทางเรือ เนื้อสุกร และผักสด ปรับตัวสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ประกอบกับต้นปี 2565 เกิดเหตุการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน ส่งผลให้ราคาก๊าซธรรมชาติ น้ำมันดิบ ธัญพืช และแร่ธาตุสำคัญ ที่รัสเซียและยูเครนเป็นผู้ผลิตและส่งออกหลัก ปรับตัวสูงขึ้นในอัตราเร่ง อัตราเงินเฟ้อทั่วโลกจึงพุ่งสูงขึ้นส่งผลกระทบไปยังต้นทุนของภาคธุรกิจและค่าครองชีพของประชาชน

จาก World Economic Outlook ประจำเดือนกรกฎาคม 2566 ของ International Monetary Fund (IMF) ระบุว่า อัตราเงินเฟ้อโลกเฉลี่ยปี 2564 และ 2565 อยู่ที่ร้อยละ 4.7 และ 8.7 ตามลำดับ ขณะที่ประเทศไทย อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ย ปี 2564 และ 2565 อยู่ที่ร้อยละ 1.23 และ 6.08 ตามลำดับ ส่วนปี 2566 อัตราเงินเฟ้อในหลายเศรษฐกิจมีแนวโน้มชะลอตัวลง โดย IMF คาดการณ์ว่าปี 2566 อัตราเงินเฟ้อโลกเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 6.8 ลดลงอย่างชัดเจนจากปี 2565 สาเหตุสำคัญมาจากราคาพลังงานที่ปรับตัวลดลงเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ฐานการคำนวณในปี 2565 ที่อยู่ในระดับสูง และการใช้มาตรการช่วยเหลือของภาครัฐ

ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาเปรียบเทียบอัตราเงินเฟ้อระหว่างเขตเศรษฐกิจทั่วโลก อัตราเงินเฟ้อของไทยเฉลี่ย 6 เดือน (ม.ค. – มิ.ย.) ปี 2566 สูงขึ้นร้อยละ 2.49 อยู่ในระดับต่ำเป็นอันดับที่ 9 จาก 130 เขตเศรษฐกิจที่มีการประกาศตัวเลข และต่ำสุดในกลุ่มประเทศอาเซียนจาก 7 ประเทศที่มีการประกาศตัวเลข โดยเขตเศรษฐกิจที่มีอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ย 6 เดือนแรกของปี 2566 สูงกว่าไทย อาทิ สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส สเปน แคนาดา บราซิล เกาหลีใต้ อินเดีย และประเทศกลุ่มอาเซียน (เวียดนาม มาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ลาว)

ขณะที่เขตเศรษฐกิจที่มีอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ย 6 เดือน ปี 2566 ต่ำกว่าไทย อาทิ บาห์เรน จีน มาเก๋า ปานามา โอมาน ฟิจิ ฮ่องกง และไต้หวัน อย่างไรก็ตาม การเปรียบเทียบอัตราเงินเฟ้อระหว่างเขตเศรษฐกิจเป็นการศึกษาแนวโน้มสถานการณ์ราคาสินค้าและบริการของแต่ละเขตเศรษฐกิจในภาพรวม ไม่สามารถเป็นเครื่องบ่งชี้ได้ว่าเขตเศรษฐกิจใดมีเสถียรภาพทางด้านราคามากหรือน้อยกว่ากัน เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อที่เหมาะสมจะขึ้นอยู่กับบริบททางเศรษฐกิจของเขตเศรษฐกิจนั้นๆ และจะต้องพิจารณาร่วมกับกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ และเครื่องชี้วัดทางเศรษฐกิจอื่นๆ

นายพูนพงษ์ กล่าวว่า ต้นเหตุในการเกิดเงินเฟ้อของไทย มาจากปัญหาด้านอุปทานในต่างประเทศที่ทำให้ต้นทุนการผลิตในประเทศสูงขึ้นเป็นสำคัญ ซึ่งเป็นปัจจัยภายนอกที่ไม่สามารถควบคุมได้ ประกอบกับการบริโภคภาคเอกชนและประชาชนที่ฟื้นตัวเร็วกว่าภาคการผลิต ทำให้ปัญหาอุปทานตึงตัวทวีความรุนแรงขึ้น ภาครัฐจึงออกมาตรการเพื่อรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ และช่วยเหลือภาคธุรกิจและประชาชนให้ได้รับผลกระทบน้อยที่สุด ไม่ว่าจะเป็นการขอความร่วมมือผู้ประกอบการตรึงและลดราคาสินค้าและบริการ การสนับสนุนช่องทางการทำธุรกิจใหม่ๆ การให้เงินกู้ช่วยเหลือ การอุดหนุนราคาพลังงาน และมาตรการอื่นๆ ของภาครัฐที่ดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ซึ่งทำให้ประเทศไทยสามารถผ่านพ้นวิกฤตการณ์นี้ไปได้ ทั้งนี้ เงินเฟ้อในช่วงที่เหลือของปีคาดว่าจะอยู่ในระดับต่ำต่อไป และอาจเคลื่อนไหวในกรอบแคบๆ

โดยมีปัจจัยสำคัญ ได้แก่ ฐานการคำนวณที่สูงในช่วงปลายปี 2565 ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่ปรับตัวลดลงเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ผลจากการดำเนินมาตรการของภาครัฐในมิติต่าง ๆ และการชะลอตัวทางเศรษฐกิจของหลายเขตเศรษฐกิจที่ส่งผลให้อุปสงค์โดยรวมของต่างประเทศลดลง และส่งผลมายังรายได้และกำลังซื้อของภาคธุรกิจและประชาชนในประเทศไทย อย่างไรก็ตาม ความผันผวนของราคาพลังงาน สถานการณ์ภัยแล้ง