พาณิชย์มองบาทแข็งกระทบส่งออกจำกัด

787
0
Share:

นางสาวพิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า หหหรือ สนค. เปิดเผยว่าในช่วงที่เหลือของปีนี้ คาดว่าเงินบาทยังมีแนวโน้มทรงตัว หรือ อาจแข็งค่าขึ้น โดยเคลื่อนไหวในช่วง 30-31 บาทต่อดอลลาร์ จากปัจจัยการดำเนินนโยบายการเงินผ่อนคลายเพิ่มเติมของประเทศสำคัญของโลก อย่างสหรัฐ, จีน และสหภาพยุโรป แนวทางการออกจากสหภาพยุโรปของอังกฤษ หรือ Brexit และ ความขัดแย้งการเมืองระหว่างประเทศ ซึ่งต้องเร่งส่งเสริมให้ผู้ประกอบการทำประกันความเสี่ยงค่าเงิน เพื่อรองรับผลกระทบจากการความผันผวนและค่าเงินที่อาจจะแข็งค่าเพิ่มขึ้นในช่วงที่เหลือของปี 2562
.
ถึงแม้ค่าเงินบาทที่แข็งค่าอาจทำให้รายได้ผู้ประกอบการลดลง แต่ในภาพรวมที่จะมีผลกระทบต่อการส่งออกยังมีจำกัด เพราะจากการวิเคราะห์อัตราแลกเปลี่ยนของประเทศคู่ค้าที่สำคัญและของไทย พบว่าค่าเงินบาทเฉลี่ยจากต้นปีจนถึงวันที่ 30 สิงหาคม 2562 อยู่ที่ 31.39 บาทต่อดอลลาร์ แข็งค่าขึ้น 2.2% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันกับปีก่อน และแข็งค่ากว่าประเทศคู่แข่งและคู่ค้าที่สำคัญ ซึ่งส่วนมากค่าเงินอ่อนค่า เนื่องจากปัจจัยเศรษฐกิจและการเมืองภายในประเทศ รวมทั้งความขัดแย้งระหว่างประเทศ อย่างเช่น เกาหลีใต้อ่อนค่า 6.5% สหภาพยุโรป อ่อนค่า 6.3% อังกฤษอ่อนค่า 6.2% จีนอ่อนค่า 5.3% อินเดียอ่อนค่า 5.1%
.
แต่การส่งออกไทยยังทำได้ดีกว่าประเทศที่ค่าเงินอ่อนค่า โดย 7 เดือนแรกของปีนี้ ไทยส่งออกหดตัว 1.9% ส่วนเกาหลีใต้หดตัว 8.9% อังกฤษหดตัว 3.5% ไต้หวันหดตัว 2.9% และมาเลเซียหดตัว 4.8% ดังนั้นการแข็งค่าของค่าเงินบาทแม้ว่าจะทำให้รายได้ผู้ประกอบการลดลง แต่ในภาพรวมการส่งผลกระทบต่อการส่งออกยังจำกัด
.
แม้สินค้าเกษตรจะเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงได้รับผลกระทบจากการแข็งค่าของค่าเงินบาท แต่การส่งออกไปบางตลาดยังขยายตัวได้ดี เช่น การส่งออกข้าว 7 เดือนแรกหดตัว 18.5% แต่ส่งออกไปสหรัฐฯ ขยายตัว 13.9% // การส่งออกผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง 7 เดือนแรกหดตัว 6.9% แต่การส่งออกไปญี่ปุ่นขยายตัว 3.2% และการส่งออกข้าวโพด 7 เดือนแรกหดตัว 20.7% แต่การส่งออกไปเวียดนามขยายตัว 29.2%