พาณิชย์เผยเงินเฟ้อทั่วไปเดือนมิ.ย.63 ติดลบ 1.57% ด้านเงินเฟ้อพื้นฐาน ติดลบ 0.05% เป็นการติดลบครั้งแรกในรอบ 10 ปี 8 เดือน

654
0
Share:

นางสาวพิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า เปิดเผยในการแถลงข่าวสถานการณ์ราคาสินค้าและบริการเดือนมิ.ย.2563 ว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค หรือ เงินเฟ้อทั่วไป ติดลบ 1.57% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่ปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ติดลบ 3.44% ขณะที่ 6 เดือน ติดลบ 1.13%
.
ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน มิ.ย. ติดลบ 0.05% ซึ่งเป็นการติดลบครั้งแรกในรอบ 10 ปี 8 เดือน ขณะที่ 6 เดือน (ม.ค.-มิ.ย.) อยู่ที่ 0.32%
.
สำหรับสาเหตุที่เงินเฟ้อทั่วไปติดลบ จากมาตรการบางส่วนของภาครัฐ โดยเฉพาะการลดค่ากระแสไฟฟ้า และน้ำประปาได้สิ้นสุดลง รวมทั้งสินค้ากลุ่มพลังงาน และอาหารสด ลดลงต่อเนื่อง ขณะเดียวกันยังเป็นผลจากการลดลงของหมวดยานพาหนะการขนส่งและการสื่อสาร 5.06% โดยน้ำมันเชื้อเพลิงลดลง 16.14%
.
ส่วนแนวโน้มเงินเฟ้อในช่วงที่เหลือของปีนี้ คาดว่าจะติดลบทุกเดือน เนื่องจากฐานที่สูงนอกจากนี้ยังเป็นผลจากประชาชนยังระมัดระวังในการใช้จ่าย ประกอบกับราคาน้ำมันยังอยู่ในระดับต่ำ ขณะที่สถานการณ์โควิด-19 แม้จะเริ่มดีขึ้น แต่ยังกดดันด้านการท่องเที่ยว เนื่องจากยังคงมีจำกัด
.
นอกจากนี้ยังต้องติดตามภัยแล้งที่ยังเป็นประเด็นที่ส่งผลต่อราคาสินค้าเกษตรสำคัญหลายชนิดอย่างไรก็ตาม ข้อจำกัดด้านเศรษฐกิจในสถานการณ์ไม่ปกติที่ยังฟื้นตัวได้ช้า และอยู่ในระดับต่ำ ส่งผลให้กระทรวงพาณิชย์ได้ปรับคาดการณ์เงินเฟ้อปีนี้เป็นติดลบ 0.7% ถึง -1.5% จากเดิมคาดติดลบ 0.2% ถึง -1%
.
ทั้งนี้ การคาดการณ์เงินเฟ้อครั้งนี้ ภายใต้สมมติฐานอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ติดลบ7.6% ถึง 8.6% อ้างอิงจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ขณะที่น้ำมันดิบดูไบทั้งปีที่ 35-45 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล และอัตราแลกเปลี่ยนทั้งปีที่ 30.5-32.5 บาทต่อดอลลาร์
.
ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค ในเดือนมิ.ย. ปรับตัวสูงขึ้นมาอยู่ที่ 42.5 จากระดับ 38.1 ในเดือนก่อนหน้า แต่ยังต่ำกว่าระดับ 50 ส่วนแนวโน้มในระยะต่อไปยังต้องติดตามสถานการณ์ในช่วงครึ่งปีหลัง รวมถึงติดตามมาตรการขับเคลื่อนจากภาครัฐ ที่จะมีเม็ดเงินต่างๆ ทั้งจาก พ.ร.บ.งบประมาณประจำปี 2563 และ 2564 รวมถึงจาก พ.ร.ก.กู้เงิน ที่จะเป็นส่วนช่วยประคองเศรษฐกิจให้ฟื้นตัวได้