พาณิชย์เผย 7 เดือนแรก ต่างชาติลงทุนในไทยเกือบ 6 หมื่นล้าน เพิ่มขึ้น 17% ญี่ปุ่นนำโด่ง

121
0
Share:
พาณิชย์ เผย 7 เดือนแรก ต่างชาติ ลงทุน ในไทยเกือบ 6 หมื่นล้าน เพิ่มขึ้น 17% ญี่ปุ่นนำโด่ง

นายทศพล ทังสุบุตร อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว เปิดเผยว่า ในเดือน ก.ค. 2566 มีการอนุญาตให้คนต่างชาติประกอบธุรกิจในประเทศไทย 51 ราย เป็นการลงทุนผ่านช่องทางการขอรับใบอนุญาตประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว 20 ราย และการขอหนังสือรับรองการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว 31 ราย เม็ดเงินลงทุนทั้งสิ้น 10,023 ล้านบาท จ้างงานคนไทย 372 คน ส่วนใหญ่เป็นนักลงทุนจากญี่ปุ่น สิงคโปร์ และสหรัฐอเมริกา

โดยธุรกิจที่คนต่างด้าวได้รับอนุญาต ได้แก่ บริการให้ใช้ระบบแอปพลิเคชันที่ใช้สำหรับป้องกันการตรวจสอบการโทร, บริการออกแบบและพัฒนาซอฟต์แวร์สำหรับจัดการสินทรัพย์ดิจิทัล, บริการรับจ้างผลิตเครื่องจักร อุปกรณ์ อะไหล่ ชิ้นส่วนของเครื่องจักรที่ใช้ในระบบแปรรูปยางพารา และเครื่องจักรทั่วไป, บริการวิจัยและพัฒนาชิ้นส่วนยานพาหนะ และบริการพัฒนาซอฟต์แวร์เกมส์ออนไลน์และแอปพลิเคชัน

ขณะที่ในช่วง 7 เดือนปี 2566 (ม.ค.-ก.ค.) ได้อนุญาตให้คนต่างชาติเข้ามาลงทุนประกอบธุรกิจในประเทศไทย ภายใต้ พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 จำนวน 377 ราย เพิ่มขึ้น 17% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มี 377 ราย แยกเป็นการลงทุนผ่านช่องทางการขอรับใบอนุญาตประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว 122 ราย และการขอหนังสือรับรองการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว 255 ราย รวมเม็ดเงินลงทุนทั้งสิ้น 58,950 ล้านบาท ลดลง 20% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีเม็ดเงินลงทุน 73,624 ล้านบาท มีการจ้างงานคนไทย 3,594 คน

สำหรับต่างชาติที่เข้ามาลงทุนในไทยสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ ญี่ปุ่น 84 ราย (22%) เงินลงทุน 19,893 ล้านบาท, สหรัฐอเมริกา 67 ราย (18) เงินลงทุน 3,044 ล้านบาท, สิงคโปร์ 61 ราย (16%) เงินลงทุน 12,925 ล้านบาท จีน 28 ราย (7%) เงินลงทุน 11,663 ล้านบาท และเยอรมนี 16 ราย (4%) เงินลงทุน 1,298 ล้านบาท

ทั้งนี้ธุรกิจที่ได้รับอนุญาตเดือนม.ค.-ก.ค. 2566 ส่วนใหญ่เป็นธุรกิจที่สอดคล้องกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ ตามนโยบายการส่งเสริมการลงทุนเพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ อาทิ บริการขุดเจาะหลุมปิโตรเลียมภายในบริเวณพื้นที่แปลงสำรวจที่ได้รับสัมปทานในอ่าวไทย บริการออกแบบ จัดซื้อ จัดหา ติดตั้ง ปรับปรุง พัฒนา ทดลองระบบ เชื่อมระบบ และการเปิดใช้งาน ตลอดจนการบริหารจัดการ สำหรับโครงการรถไฟฟ้า เป็นต้น

ส่วนการลงทุนในพื้นที่ EEC ของนักลงทุนต่างชาติ ช่วง 7 เดือนแรกของปีนี้ว่า มีนักลงทุนต่างชาติสนใจลงทุนในพื้นที่ EEC จำนวน 73 ราย คิดเป็น 19% ของจำนวนนักลงทุนทั้งหมด โดยมูลค่าการลงทุนในพื้นที่ EEC อยู่ที่ 12,348 ล้านบาท คิดเป็น 21% ของเงินลงทุนทั้งหมด