ฟัง 3 เหตุผลคนไทยไม่อยากมีลูก เกินครึ่งไม่ห่วงเด็กเกิดน้อยลง ยึดสถานะโสดพ่วงไม่แฟน

442
0
Share:
ฟัง 3 เหตุผล คนไทย ไม่อยากมีลูก เกินครึ่งไม่ห่วงเด็กเกิดน้อยลง ยึดสถานะโสดพ่วงไม่แฟน

สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นนิด้าโพล เรื่อง “มีลูกกันเถอะน่า” เมื่อสอบถามกลุ่มผู้ที่ไม่อยากมีลูก เกี่ยวกับสาเหตุที่ไม่อยากมีลูก พบว่า 38.32% ไม่อยากเพิ่มค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงลูก และในสัดส่วนที่เท่ากันมองว่าเป็นห่วงว่าลูกเราจะอยู่อย่างไรในสภาพสังคมปัจจุบัน รองลงมา 37.72% ไม่อยากมีภาระต้องดูแลลูก ต่อมา 32.23% ต้องการชีวิตอิสระ ขณะที่ 17.66% กลัวเลี้ยงลูกได้ไม่ดี มี 13.77% อยากให้ความสำคัญกับงานมากกว่า ตามด้วย 5.39% สุขภาพตนเองหรือคู่ครองไม่ค่อยดี ส่วนอีก 2.10% กลัวพ่อพันธุ์ แม่พันธุ์จะไม่ดี ทำให้ลูกที่เกิดมาไม่ดีไปด้วย และ 0.90% กลัวกรรมตามสนองเนื่องจากเคยทำไม่ดีไว้กับพ่อและแม่

คำถามความกังวลต่อจำนวนเด็กเกิดใหม่ในอนาคตว่าจะมีน้อยมาก พบว่า 50.53% ไม่กังวลเลย รองลงมา 23.13% ไม่ค่อยกังวล ขณะที่ 17.79% ค่อนข้างกังวล และ 8.55% กังวลมาก

สำหรับมาตรการที่รัฐบาลควรสนับสนุนเพื่อให้คนไทยมีลูก พบว่า 65.19% สนับสนุนการศึกษาฟรีในประเทศจนถึงขั้นสูงสุดสำหรับคนมีลูก รองลงมา 63.66% รัฐอุดหนุนค่าเลี้ยงดูลูกจนถึงอายุ 15 ปี ต่อมา 30% ลดภาษีเงินได้สำหรับคนมีลูก ขณะที่ 29.47% เพิ่มวันลาให้แม่และพ่อในการเลี้ยงดูลูก ต่อมา 21.91% มีเงินรางวัลจูงใจที่สูงสำหรับเด็กแรกเกิด ตามด้วย 19.92% อุดหนุนทางการเงินแม่ พ่อเลี้ยงเดี่ยว ที่น่าสนใจ คือ 7.48% เพิ่มภาษีเงินได้สำหรับคนไม่มีลูก ต่อมา 5.50% รัฐเปิดช่องทางในการอุ้มบุญมากขึ้น

ด้านสถานะการแต่งงานและการมีลูก พบว่า 29.39% เป็นโสดและไม่มีแฟน รองลงมา 26.57% แต่งงานจดทะเบียนสมรสและมีลูกแล้ว มี 20.92% เป็นโสดแต่มีแฟนแล้ว มีถึง 10.99% แต่งงานไม่ได้จดทะเบียนสมรสและมีลูกแล้ว ขณะที่ 4.58% แต่งงานจดทะเบียนสมรสแต่ไม่มีลูก ต่อมา 2.52% เป็นแม่หรือพ่อเลี้ยงเดี่ยว (หม้ายที่มีลูกแล้ว โสดและมีลูกแล้ว) ส่วนอีก 1.98% แต่งงานไม่ได้จดทะเบียนสมรสแต่ไม่มีลูก และมีคู่ครอง (อยู่ด้วยกันแต่ไม่ได้แต่งงาน) และมีลูกแล้ว ในสัดส่วนที่เท่ากัน

โพลดังกล่าวจะพบว่า ผู้ที่ยังไม่มีลูก และเกี่ยวกับการอยากมีลูก พบว่า 53.89% อยากมี รองลงมา 44% ไม่อยากมี

ทั้งนี้ ผลสำรวจในครั้งนี้จัดทำการสำรวจระหว่างวันที่ 26-28 กันยายน 2566 จากประชาชนที่มีอายุระหว่าง 18-40 ปี กระจายทุกภูมิภาค ระดับการศึกษา อาชีพ และรายได้ทั่วประเทศ รวมทั้งสิ้น จำนวน 1,310 หน่วยตัวอย่าง