ภาคธุรกิจยังไม่ฟื้นตัวโอไมครอน ลามยาวตั้งแต่ปีก่อน ฉุดท่องเที่ยว-กำลังซื้อ-จ้างงาน

418
0
Share:
ภาคธุรกิจ ยังไม่ฟื้นตัว จาก โควิด-19 โอไมครอน ลามยาวตั้งแต่ปีก่อน ฉุด ท่องเที่ยว - กำลังซื้อ - จ้างงาน

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) รายงานผลสำรวจ “ความเชื่อมั่นทางธุรกิจ (BSI) เฉพาะกิจ ผลกระทบจากไวรัส COVID-19 ต่อภาคธุรกิจไทย โดยธุรกิจยังทรงตัวจากเดือน ธ.ค. ปีที่ผ่านมา ในเดือนมกราคม 2565 ระดับการฟื้นตัวของธุรกิจโดยรวมใกล้เคียงกับเดือนก่อนหน้า โดยยังคงถูกกดดันจากปัญหาการขนส่งที่ยังไม่กลับสู่ภาวะปกติ กำลังซื้อที่อ่อนแอ และความกังวลการแพร่ระบาดของสายพันธุ์โอไมครอน

อย่างไรก็ตาม การฟื้นตัวของภาคธุรกิจในภาคการค้าปรับดีขึ้นจากธุรกิจค้าปลีกยานยนต์เป็นสำคัญ ส่วนหนึ่งเป็นผลสืบเนื่องมาจากงาน motor expo ในเดือน ธ.ค. 2564 ขณะที่ธุรกิจโรงแรมและร้านอาหารค่อนข้างทรงตัว ธุรกิจทั้งในภาคการผลิตและภาคที่มิใช่การผลิตมีความกังวลเกี่ยวกับปัญหาการขนส่งเพิ่มขึ้น ขณะที่กังวลเกี่ยวกับการแพร่ระบาดระลอกใหม่อยู่ในระดับน้อยถึงปานกลาง ส่วนหนึ่งมาจากการควบคุมการแพร่ระบาดและอัตราการฉีดวัคซีนที่ดีขึ้น รวมถึงความรุนแรงของเชื้อไวรัสที่ลดลง

การฟื้นตัวของระดับการจ้างงานโดยรวมปรับลดลงจากเดือนก่อน ทั้งในด้านจำนวนและรายได้แรงงานของทั้งภาคการผลิตและภาคที่มิใช่การผลิต สอดคล้องกับการใช้นโยบายปรับเปลี่ยนการจ้างงานที่ปรับเพิ่มขึ้นเกือบทุกประเภท โดยเฉพาะในธุรกิจอสังหาฯ และก่อสร้าง รวมถึงธุรกิจโรงแรม และคลังสินค้า

ภายใต้ภาวะที่ต้นทุนสูงขึ้น ธุรกิจมากกว่าครึ่งหนึ่งยังไม่มีแนวโน้มปรับขึ้นราคา และบางส่วนจะใช้วิธีการอื่น แทนการปรับราคา ขณะที่รายได้ของธุรกิจส่วนใหญ่ได้รับผลกระทบจาก Omicron ค่อนข้างจำกัดความกังวลต่อการแพร่ระบาดระลอกใหม่อยู่ในระดับน้อยถึงปานกลาง โดยรายได้ของธุรกิจส่วนใหญ่เท่าเดิมหรือลดลงไม่เกิน 10% ส่วนหนึ่งมาจากการควบคุมการระบาดและอัตราการฉีดวัคซีนที่ดีขึ้น รวมถึงความรุนแรงของเชื้อไวรัสที่ลดลง ทั้งนี้ ความกังวลส่วนใหญ่มาจากต้นทุนสาธารณสุขที่เพิ่มขึ้นและกำลังซื้อที่เปราะบางเป็นสำคัญ

ธุรกิจมากกว่าครึ่งหนึ่งยังไม่มีแนวโน้มปรับขึ้นราคาสินค้าและบริการในอีก 3 เดือนข้างหน้า ซึ่งส่วนใหญ่เป็นภาคบริการที่ต้นทุนยังไม่ปรับเพิ่มสูงเท่ากับภาคการผลิต และกลุ่มอสังหาฯ และก่อสร้างที่กำลังซื้อยังเปราะบาง โดยธุรกิจที่ยังไม่ปรับราคา ส่วนใหญ่จะใช้วิธีการอื่นแทนการปรับราคา เช่น การปรับลดโปรโมชั่น การลดปริมาณ ลดคุณภาพ หรือการออกสินค้ารุ่นใหม่ เพื่อเป็นการลดต้นทุน และบางส่วนสามารถแบกรับต้นทุนได้นานถึง 12 เดือน

สำหรับธุรกิจที่มีแนวโน้มปรับเพิ่มราคา ส่วนใหญ่คาดว่าจะปรับได้ไม่เกินร้อยละ 10 ของต้นทุนที่เพิ่มขึ้น เช่น ธุรกิจผลิตยางและพลาสติก ผลิตอาหารและเครื่องดื่ม เป็นต้น