มองแบบนี้! ธนาคารโลกมองดอกเบี้ยนโยบายไทยเหมาะสมแล้ว เล็งหั่นคาดการณ์จีดีพีไทยปี 67

111
0
Share:
มองแบบนี้! ธนาคารโลก มอง ดอกเบี้ย นโยบายไทยเหมาะสมแล้ว เล็งหั่นคาดการณ์จีดีพีไทยปี 67

นายเกียรติพงศ์ อริยปรัชญา นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสของธนาคารโลก (World Bank) ประจำประเทศไทย เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวในวันนี้ (6 มี.ค.) ว่าในรายงานภาวะเศรษฐกิจ 2567 ฉบับทบทวนล่าสุดที่จะออกมาในเดือน เม.ย. อาจมีการปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจไทยในปีนี้ลง จากเดิมที่คาดว่าจะขยายตัวได้ 3.2% เนื่องจากปัจจัยเรื่องการออกงบประมาณที่ล่าช้า ผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจโลก และการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจจีน

ทั้งนี้เมื่อเดือน ธ.ค.ที่ผ่านมา ธนาคารโลกได้ออกคาดการณ์เศรษฐกิจไทยปี 2567 ว่าจะขยายตัวได้ 3.2% (ไม่รวมโครงการดิจิทัลวอลเล็ต) หรือเติบโตดีขึ้นจากปี 2565 ที่ขยายตัวได้เพียง 2.5% เนื่องจากการฟื้นตัวของการท่องเที่ยว การส่งออกสินค้า และการบริโภคภาคเอกชน

อย่างไรก็ตาม แม้จะมีแนวโน้มปรับลดคาดการณ์จีดีพีของไทยในปีนี้ลง แต่ทางธนาคารโลกมองว่าไทยยังมีพื้นที่การคลังเพียงพอที่จะลงทุนเพิ่มได้ ทั้งการปฏิรูปเศรษฐกิจ ทุนมนุษย์ และโครงสร้างพื้นฐาน โดยเฉพาะการเพิ่มประสิทธิภาพจากการลงทุน

สำหรับโครงการลงทุนขนาดใหญ่ที่ไทยจะมุ่งไปเพื่อกระตุ้นหรือพลิกฟื้นเศรษฐกิจ เช่น โครงการดิจิทัล วอลเล็ต และแลนด์บริดจ์นั้น นายเกียรติพงศ์มองว่ายังไม่ทราบข้อมูลเรื่องแลนด์บริดจ์มากพอ แต่หากมองภาพใหญ่ในแง่การเชื่อมต่อก็ยังมีโอกาสที่การเชื่อมต่อในภูมิภาคนี้จะขยายตัวได้อีก

ส่วนโครงการดิจิทัลวอลเล็ตนั้นมองว่า จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้แค่ช่วงสั้นราว 1% ของจีดีพี แต่จะเป็นภาระทางการคลังที่เพิ่มขึ้นถึง 3% ของจีดีพี และเป็นโครงการกระตุ้นที่กว้างเกินไปคือการแจกเงินให้ทุกคน จึงอาจจะไม่สามารถกระตุ้นได้อย่างมีปราะสิทธิภาพมากพอ โดยมองว่า ”อัตราดอกเบี้ยนโยบาย” ของไทยในขณะนี้ว่าอยู่ในระดับที่เหมาะสมสำหรับสถานการณ์ในปัจจุบันและถือว่าอยู่ในระดับปานกลาง

อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยเผชิญกับภาวะเงินเฟ้อที่ลดลง (Disinflation) แต่เกิดขึ้นชั่วคราว และ “ไม่ใช่ภาวะเงินฝืด” (deflation) และยังมองว่าเป็นเรื่องปกติที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะมีมุมมองที่แตกต่างจากรัฐบาล