มูดี้ส์ประเมินเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มชะลอตัว เหตุเงินเฟ้อสูง-ดอกเบี้ยขาขึ้นเป็นปัจจัยฉุด

231
0
Share:
มูดี้ส์ ประเมิน เศรษฐกิจโลก มีแนวโน้มชะลอตัว เหตุ เงินเฟ้อ สูง- ดอกเบี้ย ขาขึ้นเป็นปัจจัยฉุด

มารี ดีรอน กรรมการผู้จัดการฝ่ายกำกับดูแลอันดับความน่าเชื่อถือและความเสี่ยงระดับโลกของมูดี้ส์ อินเวสเตอร์ส เซอร์วิส คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มชะลอตัวลง เนื่องจากเงินเฟ้อยังคงอยู่ในระดับสูงกว่าที่คาด อย่างไรก็ดีคาดว่าเศรษฐกิจโลกยังคงมีโอกาสที่จะฟื้นตัว

“เราคาดว่าการเติบโตของเศรษฐกิจทั่วโลกจะอ่อนแอลง ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อประเทศในกลุ่มตลาดเกิดใหม่ของเอเชีย โดยผลกระทบดังกล่าวจะเกิดขึ้นผ่านทางการค้าและการเข้าถึงแหล่งระดมเงินทุนในภูมิภาค”

ทั้งนี้ มี 3 ปัจจัยที่จะส่งผลให้เศรษฐกิจทั่วโลกชะลอตัวลง ซึ่งได้แก่อัตราดอกเบี้ยที่ปรับตัวขึ้นเป็นเวลานาน, การชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน และภาวะตึงตัวในระบบการเงิน ถึงแม้ว่าธนาคารกลางของประเทศต่างๆ พยายามควบคุมไม่ให้เศรษฐกิจทั่วโลกร้อนแรงเกินไปและฉุดเงินเฟ้อให้ชะลอตัวลงด้วยการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย แต่ความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อยังคงมีอยู่ ขณะเดียวกันเงินเฟ้อมีความเสี่ยงที่จะสูงขึ้นกว่าที่เราคาดการณ์ไว้ในปัจจุบัน และมีแนวโน้มว่าความเสี่ยงนี้จะสูงขึ้นอีกเป็นเวลานานขึ้น ซึ่งจะยิ่งส่งผลให้เศรษฐกิจอ่อนแอลง

ทั้งนี้ ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ได้เริ่มวงจรการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเดือนมี.ค. 2565 หลังจากอัตราเงินเฟ้อพุ่งแตะระดับสูงสุดในรอบ 40 ปี ส่งผลให้ในขณะนี้อัตราดอกเบี้ยของเฟดพุ่งขึ้นแตะระดับ 5.25-5.50% ขณะที่นายเจอโรม พาวเวล ประธานเฟดเตือนว่า เฟดมีแนวโน้มที่จะปรับขึ้นดอกเบี้ยอีก ซึ่งที่ผ่านมานั้นเราเห็นธนาคารพาณิชย์พยายามปรับตัวกับช่วงเวลาที่อัตราดอกเบี้ยสูงขึ้น โดยอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นนั้นมีผลกระทบเชิงบวกต่ออัตรากำไรของธนาคารในระดับหนึ่ง แต่ในอีกทางหนึ่งนั้นธนาคารก็จำเป็นต้องปรับธุรกิจ เพื่อให้สามารถดึงดูดเงินฝากจากลูกค้า

มูดี้ส์คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจจีนซึ่งใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลกจะยังไม่ฟื้นตัวขึ้นโดยเร็ว และเราคาดว่าเศรษฐกิจจีนจะชะลอตัวลงอีก ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจทั่วเอเชีย แนวโน้มเศรษฐกิจจีนถูกบดบังจากความเสี่ยงที่จะเผชิญกับช่วงขาลง และผลกระทบจากความเสี่ยงที่จะมีการผิดนัดชำระหนี้

อย่างไรก็ตาม มูดี้ส์คาดว่าเศรษฐกิจโลกยังมีโอกาสที่จะฟื้นตัว แม้จะมองว่าเศรษฐกิจจะอ่อนแอลงในปีนี้ไปจนถึงปีหน้า แต่เชื่อว่าเศรษฐกิจโลกจะได้แรงหนุนจากการเติบโตอย่างแข็งแกร่งและต่อเนื่องของตลาดต่างๆ เช่น อินเดียและอินโดนีเซีย