มูลนิธิผู้บริโภคเปิดผลสำรวจ ทรู -ดีแทครวมธุรกิจ เกิด 5 ปัญหากับผู้บริโภค

570
0
Share:
มูลนิธิผู้บริโภคเปิดผลสำรวจ ทรู -ดีแทค รวมธุรกิจ เกิด 5 ปัญหากับผู้บริโภค

มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เปิดเผยแบบสำรวจผลกระทบของผู้บริโภคผ่านช่องทางออนไลน์ ซึ่งจัดทำขึ้นระหว่างวันที่ 9-23 พฤศจิกายน 2566 จำนวน 2,924 ราย โดยเป็นการร่วมจัดทำขึ้นระหว่างมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค หน่วยงานประจำจังหวัดกรุงเทพ และสภาองค์กรของผู้บริโภค เนื่องจากในช่วงผ่านมา ผู้บริโภคจำนวนมากประสบปัญหาอินเทอร์เน็ตคุณภาพต่ำลง และค่าบริการ ทรู ดีแทค และเอไอเอส ปรับขึ้นแพงเท่ากัน ซึ่งปัญหาดังกล่าวเกิดขึ้นภายหลังการควบรวมของทรู-ดีแทค

ผลสำรวจดังกล่าว พบว่า 81% ของผู้ตอบแบบสำรวจเปิดเผย 5 ปัญหาที่พบ ได้แก่ 1.สัญญาณอินเทอร์เน็ตช้า 2.สัญญาณหลุดบ่อย 3.โปรโมชันเดิมหมดต้องใช้โปรโมชันที่แพงขึ้น 4.ค่าบริการในแต่ละระดับแพ็กเกจมีราคาเท่ากัน ทำให้ไม่มีทางเลือก และ 5.call center โทรติดยาก โดยทั้งหมดนี้เป็นผลสำรวจความเห็นของผู้ใช้บริการโทรศัพท์มือถือที่ได้รับผลกระทบหลังการควบรวมกิจการของทรู-ดีแทค ตั้งแต่เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2566 เป็นต้นมา

ผู้บริโภคที่ตอบแบบสำรวจในครั้งนี้ มีข้อเสนอแนะไปยังผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือทุกเครือข่ายว่า จะต้องปรับปรุงคุณภาพสัญญาณอินเทอร์เน็ตให้ดีกว่าเดิม หรือดีเท่ากับช่วงก่อนควบรวมกิจการ และเมื่อทรู-ดีแทค มีการควบรวมกันแล้ว อุปกรณ์เสาสัญญาณควรนำไปติดตั้งในพื้นที่ห่างไกล เพื่อขยายให้ครอบคลุมจุดรับสัญญาณ พร้อมปรับปรุงโครงข่ายให้มีความเสถียรเพียงพอต่อความต้องการ และสัมพันธ์กับความหนาแน่นของผู้ใช้งาน

ขณะเดียวกัน สัญญาณความเร็วอินเตอร์เน็ตต้องใช้ได้จริงตรงตามแพ็กเกจที่ลูกค้าจ่ายเงินซื้อ เนื่องจากในปัจจุบันไม่สอดคล้องกับราคาที่จ่าย และต้องนำข้อมูลการใช้งานของผู้บริโภคมาวิเคราะห์เพื่อให้บริการสัญญาณที่เหมาะสมที่สุด นอกจากนี้ ทั้งทรู-ดีแทค จะต้องลดเพดานอัตราค่าบริการลง 12% ทันที โดยไม่มีข้ออ้าง เนื่องจากเป็นเงื่อนไขในการควบรวมกิจการของทรู-ดีแทค ที่พ่วงมากับมติ กสทช. เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2566

ปัญหาสำคัญที่ผู้บริโภคสะท้อนผ่านการสำรวจความคิดเห็นมาที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคผ่านช่องทางออนไลน์ คือ ผู้ให้บริการเครือข่ายมือถือปรับแพคเกจตามอำเภอใจ โดยไม่ได้รับความยินยอมจากลูกค้า จึงขอเรียกร้องให้ทำธุรกิจอย่างตรงไปตรงมา ต้องให้บริการตามเงื่อนไขที่ลูกค้าซื้อแพ็กเกจเท่านั้น หากมีเหตุขัดข้องที่เป็นความผิดพลาดของผู้ประกอบการต้องชดเชยอย่างเหมาะสมให้กับลูกค้า

ที่สำคัญต้องใส่ใจดูแลปัญหาอย่างทันท่วงที ด้วยการมีเจ้าหน้าที่ call center ที่เป็นมนุษย์อย่างเพียงพอตลอด 24 ชั่วโมง ไม่ใช่ใช้ AI อย่างทุกวันนี้ นอกจากนี้ ยังมีความคิดเห็นที่เป็นข้อเสนอแนะจากผู้บริโภคฝากไปถึงคณะกรรมการ กสทช. อาทิขอให้พิจารณามติควบรวมของทรู-ดีแทค เนื่องจากปัญหาที่เกิดขึ้นได้สะท้อนความเป็นจริงถึงสภาพตลาดที่ก่อให้เกิดการผูกขาด ผู้ใช้บริการไม่ได้รับความเป็นธรรมจากสินค้าและบริการ

กสทช. ต้องมองโลกในความเป็นจริงให้มากกว่านี้ ศึกษาผลกระทบการควบรวมเครือข่ายมือถือให้รอบคอบ ต้องนึกถึงประโยชน์เพื่อประชาชนเป็นที่ตั้ง อย่าเป็นแค่เสือกระดาษ ต้องจริงใจ-จริงจัง กำหนดบทลงโทษที่เข้มแข็งจัดการผู้ประกอบการที่เอาเปรียบผู้บริโภคอย่างทันท่วงที โดยอิงตามมาตรฐานสากล ที่สำคัญต้องเปิดทางให้ทุกภาคส่วนโดยเฉพาะผู้บริโภคมีส่วนร่วมในการเอาผิดผู้ประกอบการ

ทั้งนี้ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ระบุว่า มูลนิธิฯจะนำผลสำรวจความคิดเห็นของผู้ใช้บริการทุกเครือข่ายในระบบออนไลน์ เรื่อง ผลกระทบของผู้บริโภคหลังการควบรวมธุรกิจโทรคมนาคม ไปเสนอต่อผู้ให้บริการ และกสทช. เพื่อเร่งดำเนินการตรวจสอบและแก้ไขปัญหา เพื่อสร้างความเป็นธรรมแก่ผู้บริโภคต่อไป

ด้านทรู-ดีแทค ระบุชี้แจง 6 ข้อ ได้แก่ คุณภาพสัญญาณแย่ลงหลังควบรวม? มีการลดเสาสัญญาณทำให้คุณภาพสัญญาณแย่ลง? ปัจจุบันมีการขยายเครือข่าย 5G ครอบคลุมแล้วหรือไม่ ลูกค้าแพ็กเกจไหนถึงมีสิทธิใช้ 5G? ไม่สามารถใช้แพ็กเกจเดิมได้ต่อไป มีการบังคับให้ต้องเปลี่ยนเป็นแพ็กเกจราคาสูงขึ้น? แพ็กเกจราคาแพงขึ้น? และแพ็กเกจ Unlimited ไม่ Unlimited จริง? https://m.facebook.com/story.php?story_fbid=908817090608735&id=100044413569959

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2566 ผ่านมา รศ. ดร.สมภพ ภูริวิกรัยพงศ์ รศ. ดร.ศุภัช ศุภชลาศัย ศ.กิตติคุณ ดร.พิรงรอง รามสูต พล.อ.ท. ดร.ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ ได้ทำจดหมายบันทึกด่วนที่สุดขอให้มีการบรรจุวาระเกี่ยวข้องกับการดำเนินงานของคณะอนุกรรมการเพื่อติดตามและประเมินผลการรวมธุรกิจตามประกาศ กสทช. เรื่อง มาตรการกำกับดูแลการรวมธุรกิจในกิจการโทรคมนาคม เพื่อเข้าสู่การพิจารณาของ กสทช. ครั้งที่ 22/2566 เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2566 ในระเบียบวาระ 3.6 โดยสำนักงาน กสทช. รวบรวมรายงานการประชุมของคณะอนุกรรมการแต่ละครั้ง แต่ไม่ได้จัดส่งตารางรายงานความคืบหน้าในการดำเนินการตามเงื่อนไขหรือมาตรการเฉพาะแต่อย่างใด และในการประชุม กสทช. วันพุธที่ 20 ธันวาคมนี้ ที่จะถึงนี้ ไม่ได้มีการบรรจุวาระเพื่อพิจารณาในเรื่องดังกล่าวเพื่อเข้าสู่ที่ประชุม

ดังนั้น กรรมการทั้ง 4 คน ได้แก่ รศ. ดร.สมภพ ภูริวิกรัยพงศ์ รศ. ดร.ศุภัช ศุภชลาศัย ศ.กิตติคุณ ดร.พิรงรอง รามสูต พล.อ.ท. ดร.ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ ได้ทำบันทึกด่วนที่สุดฉบับดังกล่าว