ยอดโอนอสังหาริมทรัพย์ใหม่ดิ่งเหวกว่า -14% หนี้ครัวเรือน-ขึ้นราคาบ้าน-ดอกเบี้ยสูงจัด

312
0
Share:
ยอด โอน อสังหาริมทรัพย์ ใหม่ดิ่งเหวกว่า -14% หนี้ครัวเรือน-ขึ้นราคาบ้าน-ดอกเบี้ยสูงจัด

นายวิชัย วิรัตกพันธ์ ผู้ตรวจการธนาคารอาคารสงเคราะห์ และรักษาการผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ กล่าวว่า ปัจจัยลบกระทบอสังหาริมทรัพย์ในประเทศไทยช่วง 2 ไตรมาสแรก หรือครึ่งปีแรก ยังคงมีมากมาย เช่น การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในภาพรวมที่ไม่เต็มที่ ภาวะดอกเบี้ยขาขึ้นเริ่มส่งผลกระทบชัดเจน ทำให้ความสามารถในการซื้อที่อยู่อาศัยของประชาชนปรับตัวลดลง ภาวะหนี้ครัวเรือนที่สูงกว่า 90% ของจีดีพี รวมทั้งราคาที่อยู่อาศัยที่ปรับตัวสูงขึ้น

ทำให้ความต้องการมีการปรับตัวลดลงของหน่วยการโอนกรรมสิทธิ์ และยอดขายใหม่ที่ลดลงเมื่อเทียบกับปี 2565 นั่นหมายถึงกำลังซื้อที่อยู่อาศัยอ่อนแอ และต้องการมาตรการกระตุ้นที่มีความชัดเจนและตรงจุด ซึ่งถือเป็นความท้าทายของรัฐบาลใหม่ในการกำหนดนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจและธุรกิจอสังหาฯครึ่งปีหลัง

ในปี 2566 นี้ คาดการณ์ว่าการออกใบอนุญาตจัดสรรทั่วประเทศมีจำนวน 80,643 หน่วย ลดลง -12.1% อย่างไรก็ตาม ในปีหน้านั้น คาดการณ์ว่าจะมีการปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็น 83,062 หน่วย เพิ่มขึ้น 3% จากปี 2566

ข้อมูลการโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยในไตรมาส 2 ปี 2566 พบว่า มีหน่วยโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยทั่วประเทศจำนวน 91,085 หน่วย ลดลง -4.4% เมื่อเทียบกับไตรมาส 2 ปี 2565 ที่มีจำนวน 95,285 หน่วย ด้านมูลค่าโอนนั้น มีจำนวน 258,149 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 0.5% เมื่อเทียบกับไตรมาส 2 ปี 2565 ที่มีจำนวน 256,739 ล้านบาท โดยมูลค่าการโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยแนวราบลดลง -3.8% แต่อาคารชุดกลับเพิ่มขึ้น 13.6%

สำหรับระดับราคาพบว่า ที่อยู่อาศัยแนวราบการโอนกรรมสิทธิ์ลดลงทุกระดับราคา ยกเว้นที่อยู่อาศัยในระดับราคา 7.5-10 ล้านบาท มีหน่วยการโอนกรรมสิทธิ์เพิ่มขึ้นสูงสุด 16% มูลค่าเพิ่มขึ้น 17.5% ระดับราคาตั้งแต่ 10 ล้านบาทขึ้นไป พบว่าหน่วยการโอนกรรมสิทธิ์เพิ่มขึ้น 12.4% มูลค่าเพิ่มขึ้น 10.3%

ส่วนหน่วยการโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุด หรือคอนโดมิเนียมในภาพรวมเพิ่มขึ้นเกือบทุกระดับราคา ยกเว้นระดับราคา 2-3 ล้านบาท ลดลง -12% แต่เป็นที่น่าสังเกตว่าเป็นการลดลงในกลุ่มของการโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดใหม่ระดับราคา 2-3 ล้านบาท สูงถึง 20.2%

ขณะที่ห้องชุดมือสองกลับเพิ่มสูงขึ้นถึง 24.1 % โดยห้องชุดระดับราคาที่มีการโอนกรรมสิทธิ์เพิ่มสูงขึ้นมากที่สุดคือระดับราคามากกว่า 10 ล้านบาท โดยเพิ่มขึ้นถึง 46.7% เป็นการเพิ่มขึ้นของการโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดใหม่ 52.4% และห้องชุดมือสองในระดับราคาเดียวกัน 33.3%