รฟม. เล็งเปิดให้บริการรถไฟฟ้าสายสีชมพูปลายปีนี้ เตรียมงบปี 67 จ่ายค่าก่อสร้างก้อนแรก

207
0
Share:
รฟม. เล็งเปิดให้บริการ รถไฟฟ้า สายสีชมพู ปลายปีนี้ เตรียมงบปี 67 จ่ายค่าก่อสร้างก้อนแรก

นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี โดยระบุว่า ขณะนี้ทราบว่าทางเอกชนผู้รับสัมปทาน คือ บริษัท นอร์ทเทิร์น บางกอกโมโนเรล จำกัด (NBM) อยู่ระหว่างทดสอบระบบรถไฟฟ้าสายสีชมพู และมีกำหนดเปิดให้บริการในช่วงปลายปีนี้ ซึ่งเป็นเป้าหมายของทางเอกชนที่กำหนดไว้ โดย รฟม. พร้อมที่จะสนับสนุนให้มีการเปิดบริการรถไฟฟ้าสายดังกล่าวอย่างเร็วที่สุด แต่การจะเปิดให้บริการจำเป็นต้องมีความมั่นใจเรื่องความปลอดภัยแก่ผู้โดยสาร ซึ่งจากการประเมินภาพรวมในขณะนี้ คาดว่าน่าจะเปิดให้บริการได้ในช่วงต้นปี 2567 เพราะปัจจุบันยังมี 3 สถานีที่ยังไม่เรียบร้อย โดยเฉพาะบันไดทางขึ้น-ลง, ลิฟต์ และบันไดเลื่อน ดังนั้นหากยังไม่สามารถก่อสร้างโครงสร้างเหล่านี้แล้วเสร็จ เอกชนก็ไม่สามารถเปิดให้บริการเต็มรูปแบบ และจัดเก็บค่าโดยสารได้

ปัจจุบัน รฟม.ได้เตรียมงบประมาณปี 2567 เพื่อจ่ายค่าสนับสนุนงานก่อสร้างในโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูให้แก่เอกชน ตามที่สัญญากำหนดแบ่งจ่าย 22,500 ล้านบาท จำนวน 10 งวด ซึ่งมีก้อนแรกจำนวน 2,250 ล้านบาท โดยในสัญญากำหนดไว้ว่า รฟม.จะต้องจ่ายเงินส่วนนี้เมื่อมีการเปิดให้บริการรถไฟฟ้าสายสีชมพูแบบเต็มระบบ ซึ่งคาดว่าจะเริ่มได้ในปี 2567 โดยหากเอกชนพร้อมเปิดเต็มระบบ รฟม.ก็พร้อมจ่ายเงินส่วนนี้ทันทีภายใน 45 วันหลังจากเปิดให้บริการเชิงพาณิชย์

สำหรับรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว-สำโรง ปัจจุบันได้เปิดให้บริการเชิงพาณิชน์เต็มรูปแบบแล้ว โดย รฟม.ได้จ่ายเงินสนับสนุนงานก่อสร้างให้แก่เอกชนงวดแรกในจำนวนเงิน 2,505 ล้านบาท และตามสัญญากำหนดต้องจ่ายครบรวมเป็นเงิน 25,050 ล้านบาท หลังจากนั้นตั้งแต่ปีที่ 11 ผู้รับสัมปทานต้องจ่ายผลตอบแทนให้ รฟม. จนครบสัญญา หรือประมาณ 20 ปี

ส่วนรถไฟฟ้าสายสีเหลือง มีผู้โดยสารใช้บริการเฉลี่ย 4 หมื่นคนต่อวัน โดยวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ ลดลงเหลือประมาณ 3 หมื่นคนต่อวัน โดยตามเป้าหมายที่วางไว้ รฟม.คาดว่าจะมีผู้โดยสารใช้บริการเฉลี่ยอยู่ที่ 7-8 หมื่นคนต่อวัน และหากผู้โดยสารเพิ่มขึ้นปีละประมาณ 10% จนกระทั่งถึง 1 แสนคนต่อวัน จะทำให้ถึงจุดคุ้มทุน ซึ่งขณะนี้เชื่อว่าต้องใช้เวลาในการปรับพฤติกรรมประชาชนให้มาใช้บริการรถไฟฟ้า

ขณะที่ข้อเสนอของเอกชนที่จะมีการก่อสร้างส่วนต่อขยายรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว-รัชโยธิน ระยะทาง 2.6 กิโลเมตร ตามสัญญากำหนดไว้ว่าจะต้องมีการเจรจาข้อเสนอดังกล่าวให้แล้วเสร็จก่อนรถไฟฟ้าสายสีเหลืองหลักจะเปิดให้บริการเชิงพาณิชย์ ดังนั้นขณะนี้จึงถือว่าข้อเสนอดังกล่าวได้สิ้นสุดลงแล้ว