รมว.พลังงานเตรียมพิจารณาตรึงราคาพลังงานช่วยประชาชน

625
0
Share:

นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า นโยบายการบริหารงานด้านพลังงาน จะมุ่งเน้นกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการใช้พลังงานขับเคลื่อนการสร้างงาน สร้างรายได้ และวางรากฐานสู่อนาคต รวมถึงการลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงานที่จะบรรเทาค่าครองชีพประชาชน โดยจะเจรจากับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรึงราคาพลังงานอาทิ แอลพีจี ก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์(เอ็นจีวี) ที่จะต้องมีการพิจารณารายละเอียดต่อไป
.
สำหรับนโยบายที่สำคัญยังเน้นสานงานเดิม โดยมอบหมายให้กระทรวงพลังงานหาข้อสรุปโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานรากภายใน 30 วัน กำหนดเป้าหมายเปิดรับซื้อภายในปีนี้ ซึ่งต้องมั่นใจว่ารายได้นั้นจะต้องตกถึงเกษตรกรอย่างแท้จริง โดยการเปิดรับซื้อไฟฟ้าระยะเร่งด่วน100 เมกะวัตต์นั้นก็อาจจะเป็น 100-200 เมกะวัตต์ก็ได้ขึ้นอยู่กับความพร้อมเรื่องเชื้อเพลิงที่ตอบโจทย์สร้างงานและสร้างรายได้ให้ชุมชน
.
ด้านโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ภาคประชาชนที่เปิดรับซื้อไฟส่วนเกิน 1.68 บาทต่อหน่วย มีนโยบายให้เพิ่มอัตรารับซื้อ แต่ต้องไม่เป็นภาระต่อค่าไฟจนเกินไปจึงให้ไปศึกษา ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการตั้งคณะทำงานร่วมกับภาคประชาชนก็ยังคงดำเนินการในส่วนนี้ไม่ได้ยกเลิกอะไร แต่เรื่องนี้ไม่ได้ถือเป็นเรื่องเร่งด่วนนักยังมีเวลา
.
นอกจากนี้ยังมุ่งเน้นการสร้างงาน สร้างรายได้ให้ชุมชนผ่านกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานในปีงบประมาณ 2564 โดยการบริหารงานขณะนี้ที่มีการกลั่นกรองโครงการแล้วในส่วนของงบปี 2563 ก็จะเดินหน้าต่อไปเพื่อนำไปสู่การพิจารณาอนุมัติ ขณะเดียวกันจากการหารือร่วมกับรัฐและเอกชนด้านพลังงานได้มอบหมายให้ช่วยกันคิดว่าจะช่วยแก้ไขเศรษฐกิจได้อย่างไรโดยเฉพาะรองรับการจ้างงานของนักศึกษาจบใหม่ 4-5 แสนคน และการช่วยเหลือเอสเอ็มอี ซึ่งจะได้ข้อสรุป 2 สัปดาห์
.
ส่วนการบริหารจัดการด้านพลังงานเพื่อให้ไทยมีความมั่นคงด้านพลังงานนั้นที่สนใจเป็นเรื่องนโยบายเดิมคือการหาความชัดเจนการเจรจาเพื่อร่วมพัฒนาพื้นที่ทับซ้อน ไทย-กัมพูชา ต้องทำให้ชัดเจน แต่อาจต้องใช้เวลาระยะหนึ่ง
.
ส่วนนโยบายการเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบใหม่ มอบหมายให้กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติศึกษาว่ามีผู้ประกอบการสนใจมากน้อยเพียงใด แปลงใหม่ที่จะเปิดมีความคุ้มค่ามากหน้อยแค่ไหนในตอนนี้ ซึ่งปัจจุบันราคาพลังงานไม่สูงจะมีความจูงใจหรือไม่ ส่วนเปิดเสรีก๊าซธรรมชาติ ปัจจุบันเป็นระยะที่ 2 ที่มีเอกชนหลายรายที่ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการจัดหาและค้าส่งก๊าซธรรมชาติจากคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) คาดว่าจะเห็นการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลวภายในปีนี้