รัฐบาลหนักใจกระตุ้นจีดีพีไม่ถึง 3 %

1028
0
Share:

นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล เลขานุการคณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจ หรือ ครม.เศรษฐกิจเปิดเผยว่า การประชุมในครั้งที่ 7 ไม่มีการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่ม เพราะที่ผ่านมาได้ออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจไปหมดแล้ว ทั้งการกระตุ้นการบริโภค การท่องเที่ยว การช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอี และการเร่งลงทุนโครงการขนาดใหญ่
.
แต่อาจจะมีการพิจารณาออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมในเดือนสุดท้ายของปีนี้ เพราะยอมรับว่าถึงมีมาตรการใหม่ออกมา ก็ไม่เพียงพอที่จะทำให้เศรษฐกิจไทยปี 2562 ขยายตัวได้ 3% ตามที่ตั้งใจไว้
.
นายกอบศักดิ์ กล่าวว่า การประชุม ครม. เศรษฐกิจ ที่ตั้งขึ้นมา 3 เดือน ในครั้งนี้ใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมงเศษเท่านั้น โดยที่ปร7ะชุมที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ได้มีการหารือกัน 3-4 เรื่องประกอบด้วย เรื่องการรายงานภาวะเศรษฐกิจที่ขยายตัวได้ลดลง จากเดิมที่คาดว่าเศรษฐกิจปี 2562 จากเดิมที่จะขยายตัวได้ 2.8% เหลือ 2.6% ซึ่งได้มีการสั่งการให้หน่วยงานด้านเศรษฐกิจดูแลการขยายตัวเศรษฐกิจไตรมาสสุดท้ายขยายตัวให้ได้มากกว่าไตรมาส 3 ที่ขยายตัวได้ 2.4%
.
นอกจากนี้ได้ให้รัฐวิสาหกิจเร่งเบิกจ่ายเงินลงทุนใน 2 เดือนสุดท้ายของปีนี้ให้ได้ 1.1 แสนล้านบาท และการเบิกจ่ายงบประมาณปี 2563 ที่ล่าช้าให้เบิกจ่ายให้ได้ 92.7%
.
ส่วนการหารือเรื่องการก่อสร้างรถไฟฟ้าความเร็วสูงไทย-จีน ที่มีความล่าช้า ล่าสุดกระทรวงคมนาคมและธนาคารแห่งประเทศไทย หารือกันให้มีการกู้เงินดอลลาร์เพื่อการก่อสร้างในโครงการนี้ เนื่องจากต้นทุนต่ำกว่าการกู้ในประเทศ และช่วยทำให้ค่าเงินบาทของไทยอ่อนค่าลง
.
ที่สำคัญยังสั่งการให้เร่งเบิกจ่ายเงินขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งทางกระทรวงมหาดไทยได้รายงานว่ามีการเร่งเบิกจ่ายในช่วงที่ผ่านมาประมาณ 1 หมื่นล้านบาทแล้ว
.
ด้านนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า โครงการรถไฟไทยจีน หรือรถไฟความเร็วสูง ช่วงที่ 1 กรุงเทพฯ-นครราชสีมา ยังติดปัญหาการเจรจากับจีนในสัญญาที่ 2.3 เป็นงานระบบ วงเงิน 50,633 ล้านบาท ที่ยังไม่ได้ข้อยุติ จึงไม่สามารถเสนอให้ ครม.พิจารณาเพื่อเซ็นสัญญาร่วมกันได้ และขณะนี้กำลังพิจารณาว่าจะใช้เงินกู้จากแหล่งใด ซึ่งฝ่ายไทยอยากกู้เป็นเงินบาท แต่ทางฝ่ายจีนต้องการให้กู้เป็นเงินหยวน
.
ขณะที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ระบุว่า ครม.เศรษฐกิจต้องพิจารณามาตรการเพิ่มเติม สร้างความเข้มแข็ง การดูแลผู้มีรายได้น้อย หรือ ผู้มีรายได้ปานกลาง ซึ่งสังคมรอความหวังจากการทำงานของรัฐบาลและ ครม.เศรษฐกิจ สิ่งที่ต้องทำวันนี้ ต้องทำคู่ขนานกันไปทั้งเรื่องในปัจจุบัน ที่เป็นปัญหาความเดือดร้อน รวมถึงการสร้างอนาคตไปด้วยกัน