ราคาน้ำมันดิบตลาดโลกในเอเชียบ่ายนี้พุ่งทะลุ 118 ดอลล์ แพงสุดรอบเกือบ 11 ปี

330
0
Share:

ตลาดซื้อขายน้ำมันดิบโลกในเอเชียที่สิงคโปร์ วันนี้ 3 มีนาคม 2565 เมื่อเวลา 15.30 น. เวลาไทย พบว่า ราคาน้ำมันดิบไนเม็กซ์ นิวยอร์ก สหรัฐ เคลื่อนไหวที่ 115.14 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล +4.54 ดอลลาร์/บาร์เรล หรือ +4.10% สอดคล้องกับ ราคาน้ำมันดิบเบร็นท์ อังกฤษ ทะเลเหนือ เคลื่อนไหวที่ 118.04 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล +5.11 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล หรือ +4.52% ทำสถิติราคาน้ำมันดิบสูงสุดในรอบ 10 ปี 9 เดือน และในรอบ 7 ปี 8 เดือนตามลำดับอย่างต่อเนื่อง

เมื่อคืนที่ผ่านมา 2 มีนาคม 2565 ตามเวลาสหรัฐอเมริกา ตลาดซื้อขายสัญญาน้ำมันดิบล่วงหน้า รายงานว่า ราคาน้ำมันดิบไนเม็กซ์ นิวยอร์ก สหรัฐ ปิดที่ 110.60 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล +7.10 ดอลลาร์/บาร์เรล หรือ +6.95% โดยในช่วงระหว่างการซื้อขาย มีราคาพุ่งขึ้นสูงสุดระหว่างวันที่ระดับ 112.51 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล พุ่งทะยานถึง +9.01 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล หรือ +8.33% ทำสถิติราคาสูงสุดนับตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2011 หรือในรอบ 10 ปี 9 เดือน

ด้านราคาน้ำมันดิบเบร็นท์ อังกฤษ ทะเลเหนือ ปิดที่ 112.93 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล +17.96 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล หรือ +7.58% โดยในช่วงระหว่างการซื้อขาย มีราคาพุ่งขึ้นสูงสุดระหว่างวันที่ระดับ 113.94 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล พุ่งทะยานถึง +18.97 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล หรือ +8.95% ทำสถิติราคาสูงสุดนับตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2014 หรือในรอบ 7 ปี 8 เดือน

สำหรับราคาน้ำมันดิบตลาดโลกนับตั้งแค่วันที่ 1 มกราคม 2565 มาถึงคืนที่ผ่านมา พบว่ามีราคาพุ่งทะยานถึง 40% หรือเฉลี่ยพุ่งสูงเดือนละ 20% ทำสถิติราคาน้ำมันดิบตลาดโลกรายเดือนที่มีราคาในแง่เปอร์เซ็นต์พุ่งทะยานมากเป็นประวัติการณ์

สาเหตุจากกองทัพรัสเซียโจมตีด้วยขีปนาวุธรุนแรงเข้าทำลายตึกที่ทำการรัฐบาลยูเครนในเมืองใหญ่อันดับ 2 คือเมืองคาร์คิฟ นานาชาติประกาศมาตรการคว่ำบาตรทางการเงินระหว่างประเทศกับรัสเซียอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ได้รับผลกระทบต่อราคาพลังงานทั้งทางตรง และทางอ้อมอย่างเห็นได้ชัดเจน รัฐบาลแคนาดาตอบโต้มาตรการคว่ำบาตรด้านน้ำมันดิบกับรัสเซีย ด้วยการยกเลิกนำเข้าน้ำมันดิบจากรัสเซีย ท่ามกลางสำนักงานพลังงานระหว่างประเทศ หรือ IEA เปิดเผยว่า ได้มีมติปล่อยสำรองน้ำมันดิบเข้าสู่ตลาดโลก 60 ล้านบาร์เรล เพื่อต้องการลดผลกระทบจากราคาน้ำมันดิบที่พุ่งสูงสุดในรอบกว่า 7 ปีครึ่ง จากผลกระทบของสถานการณ์การต่อสู้ระหว่างรัสเซียและยูเครน

อย่างไรก็ตามนักวิเคราะห์มองว่า ปริมาณ 60 ล้านบาร์เรล ซึ่งคิดเป็นเพียง 4% ของปริมาณสำรองทั้งหมดที่ 1,500 ล้านบาร์เรลนั้น แทบไม่มีผลในทางบวกที่จะดึงราคาน้ำมันดิบให้ลดลงได้ ฝนอกจากนี้ นักลงทุนจับตามองการประชุมแบงก์ชาติสหรัฐอเมริกาในเดือนนี้ ที่จะมีการประบขึ้นอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นเป็นครั้งแรก

ทั้งนี้ วิกฤตสถานการณ์รุนแรงระหว่างรัสเซียกับยูเครน และการคว่ำบาตรจากนานาชาติทั่วโลก ยังคงกดดันราคาน้ำมันดิบโลกต่อเนื่อง นอกจากนี้ สำนักงานพลังงานระหว่างประเทศ เปิดเผยรายงานภาวะน้ำมันดิบโลก พบว่าตลาดน้ำมันดิบยังคงตึงตัวต่อเนื่องหลังจากกลุ่มโอเปกพลัสมีมติเพิ่มกำลังการผลิตอีก 400,000 บาร์เรลในเดือนมีนาคม โดยทั่วโลกต้องการใช้น้ำมันดิบปี 2565 สูงถึง 100.6 ล้านบาร์เรลต่อวัน