ลุงคนนี้! ประธานธนาคารกลางสหรัฐส่งซิก เริ่มเห็นสัญญาณเศรษฐกิจสหรัฐชะลอตัวนุ่มนวล

112
0
Share:
ลุงคนนี้! ประธาน ธนาคารกลางสหรัฐ ส่งซิก เริ่มเห็นสัญญาณเศรษฐกิจสหรัฐชะลอตัวนุ่มนวล ดอกเบี้ย

นายเจอโรม พาวเวลล์ ประธานธนาคารกลางสหรัฐอเมริกา หรือเฟด กล่าวปาฐกถาพิเศษในคืนผ่านมาที่วิทยาลัยสเปลแมน (Spelman College) ในแอตแลนต้า สหรัฐอเมริกา กล่าวว่า เฟดกำลังจะได้ในสิ่งที่เฟดต้องการ เพื่อให้ข้อจำกัดต่างๆหลุดพ้นจากเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกา คณะกรรมการนโยบายการเงินที่ได้ดำเนินการอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นมาจนถึงขณะนี้ด้วยความรวดเร็วนั้น คณะกรรมการดังกล่าวจะดำเนินนโยบายการเงิน หรืออัตราดอกเบี้ยในอนาคตด้วยความระมัดระวัง เนื่องจากความเสี่ยงของการใช้เครื่องมือดอกเบี้ยระยะสั้นของธนาคารกลางสหรัฐไม่ว่าจะปรับขึ้นสูงเกินไป และปรับลงต่ำเกินไป กำลังจะนำไปสู่ความสมดุลย์มากขึ้น

ประธานธนาคารกลางสหรัฐอเมริกา หรือเฟด กล่าวต่อไปว่า ขณะที่เฟดต้องดำเนินนโยบายดังกล่าวในอนาคต ข้อมูลจะเป็นเครื่องชี้วัด ถ้าหากเฟดมีความจำเป็นที่จะต้องทำอะไรมากขึ้นอีกหรือไม่ ซึ่งหมายถึงระดับอัตราดอกเบี้ยระยะสั้น เฟดต้องเตรียมความพร้อมในการเพิ่มความตึงตัวของอัตราดอกเบี้ยระยะสั้น ถ้าหากมีปัจจัยที่เหมาะสมที่เอื้อให้ดำเนินการเช่นนั้น

กรรมการทุกคนยังคงให้น้ำหนักกับความไม่แน่นอนในแนวโน้มหรือมุมมองที่มีต่อเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกา ซึ่งมักจะกลายเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างผิดปกติ ทำให้เป็นหนึ่งในปัจจัยที่มีผลต่อทิศทางของดอกเบี้ยระยะสั้นต่อไป อย่างไรก็ตาม กรรมการล้วนมีมุมมองที่เกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาที่อาจจะชะลอตัวในลักษณะอย่างนุ่มนวลหรือค่อยเป็นค่อยไป ด้วยตลาดการจ้างงานยังคงแข็งแกร่งถึงแม้ว่าการเติบโตของการใช้จ่ายและผลผลิตทางเศรษฐกิจจะชะลอลง ที่สำคัญ แรงกดดันเงินเฟ้อที่ลดลง

ทั้งส่วนตัวและผู้บริหารในคณะกรรมการนโยบายการเงิน ประเมินว่าการขยายตัวในภาคการใช้จ่าย และผลผลิตทางเศรษฐกิจ จะชะลอตัวลงในปี 2024 เนื่องจากผลกระทบของวิกฤตการณ์โรคระบาดโควิด-19 และการกลับมาเปิดเศรษฐกิจ ล้วนมีแรงส่งที่ลดลง และนโยบายการเงินที่ตึงตัวและจำกัด ทำให้มีน้ำหนักในการกระทบความต้องการบริโภคสะสมที่มีอยู่

ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2023 ผ่านมา นายเจอโรม พาวเวลล์ ประธานธนาคารกลางสหรัฐอเมริกา หรือเฟด กล่าวปาฐกถาพิเศษในงานของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือไอเอ็มเอฟ ว่า ธนาคารกลางสหรัฐอมริกา หรือเฟด ไม่มีความมั่นใจกับอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นในปัจจุบันนี้ว่าเฟดได้ปรับขึ้นมาสูงมากพอแล้วที่จะสิ้นสุดการขึ้นดอกเบี้ยดังกล่าวในการแก้ปัญหาภาวะเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับสูงในสหรัฐอเมริกา

เฟดมีข้อผูกมัดที่ชัดเจนในการดำเนินนโยบายอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นที่อยู่ในระดับสูงมากพอที่จะจำกัดภาวะเงินเฟ้อให้อยู่ในเป้าหมายที่ระดับ 2% ถ้าปัจจัยหรือสิ่งแวดล้อมต่างๆ ล้วนมีความเหมาะสมที่ต้องใช้นโยบายการเงินที่ตึงตัวต่อไปอีก เฟดไม่มีการลังเลแม้แต่น้อยที่ต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นทันทีและต่อเนื่อง

เฟดจะพิจารณาการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยด้วยความระมัดระวังจากนี้ไป เนื่องจากผู้บริหารของเฟดทุกคนล้วนกล่าวถึงความเสี่ยงทั้งข้อมูลที่ทำให้เกิดความเข้าใจผิด หรือข้อมูลที่ทำให้หลงทางในช่วง 2-3 เดือนผ่านมาที่ปรากฏสัญญาณในทางบวก และความเสี่ยงของการใช้นโนบายการเงินที่ตึงตัวมากจนเกินไป เฟดล้วนพิจารณาและตัดใจกับอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นในแต่ละครั้งของการประชุมของคณะกรรมการนโยบายการเงิน

อย่างไรก็ตาม การต่อสู้จัดการให้ระดับอัตราเงินเฟ้อกลับมามีเสถียรภาพ ด้วยภาวะเงินเฟ้อในปัจจุบันที่ระดับ 3.4% ในสหรัฐอเมริกานั้น และถึงแม้ว่าอัตราเงินเฟ้อดังกล่าวลดลงอย่างช้าๆในช่วงที่ผ่านมานั้น ยืนยันได้ว่า ยังอีกห่างไกลที่จะบรรลุความสำเร็จ ความผิดพลาดครั้งใหญ่ที่สุดที่เฟดทำลงไป คือ ความล้มเหลวที่จะควบคุมภาวะเงินเฟ้อให้ได้

สำหรับมติการประชุมของคณะกรรมการนโยบายการเงิน ธนาคารกลางสหรัฐอเมริกาครั้งสุดท้ายนั้น ปรากฏว่า เฟดมีมติตรึงอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นไว้ที่ระหว่าง 5.25-5.50% ซึ่งเป็นการตรึงดอกเบี้ยดังกล่าวเป็นครั้งที่ 2 ในรอบ 1 ปี 7 เดือน หรือตั้งแต่มีนาคมปี 2022 ซึ่งเป็นการขึ้นดอกเบี้ยติดต่อกันถึง 11 ครั้งในช่วงเวลาดังกล่าว ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยระยะสั้นของเฟดยังทรงตัวในระดับสูงสุดใน 22 ปีผ่านมา

ถึงแม้ว่าภาวะเงินเฟ้อจะเริ่มลดลงในช่วงที่เหลือของปีนี้ และในปีต่อไป เฟดยังคงประเมินว่าอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นที่จะปรับเปลี่ยนในครั้งแรกจะเป็นไปอย่างเบาบาง นั่นหมายถึง การคาดการณ์ว่าอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นจะลดลง 0.5% ในปี 2024 อาจะส่งผลสุทธิต่อการปรับขึ้นแนวโน้มตัวเลขอัตราเงินเฟ้อแท้จริง ซึ่งเมื่อเดือนมิถุนายนผ่านมา ผู้ว่าการธนาคารกลางสหรัฐอเมริกาจำนวนหนึ่งมองว่าในปี 2024 จะเริ่มปรับลดดอกเบี้ยระยะสั้น 1%

ก่อนหน้านี้ ธนาคารกลางสหรัฐอเมริกา เปิดเผยคาดการณ์ว่า เมื่ออัตราดอกเบี้ยระยะสั้นลดต่ำลงมาที่ระดับ 5.1% ในสิ้นปี 2024 และลดลงไปแตะที่ระดับ 3.9% ในสิ้นปี 2025 อัตราเงินเฟ้อในสหรัฐอเมริกาจะลดลงมาอยู่ที่ระดับ 3.3% ในช่วงสิ้นปีนี้ และจะลดลงเหลือระดับ 2.5% ในปี 2024 จนกระทั่งลงมาเหลือเพียง 2.2% ในสิ้นปี 2025 ดังนั้น เงินเฟ้อจะเข้าสู่เป้าหมายที่ระดับ 2.0% จึงอาจเป็นไปได้ในปี 2026