ลูกบ้านคอนโดแอชตันเจอธนาคารเบรกทำธุรกรรม นายกส.อาคารชุดไทยชี้ปัญหาคอนโดแอชตัน อโศก ทุบความเชื่อมั่นพ่วงการลงทุนในไทย

423
0
Share:

วันที่ 10 สิงหาคม 2564 ดร.อาภา อรรถบูรณ์วงศ์นายกสมาคมอาคารชุดไทย เปิดเผยว่าหลังจากศาลปกครองกลางมีคำสั่งให้เพิกถอนใบอนุญาตก่อสร้างคอนโดมิเนียมแอชตัน อโศก ถ.สุขุมวิท 21 ซึ่งเป็นโครงการคอนโดมิเนียมของบริษัท อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) ทำให้เกิดปัจจัยลบ และกระทบต่อความเชื่อมั่น และการลงทุนทั้งในฝั่งผู้พัฒนาและประชาชนที่สนใจซื้อคอนโดมิเนียมในอนาคต

ดังนั้น ในฐานะนายกสมาคมอาคารชุดไทยจึงขอแสดงจุดยืนสมาคมอาคารชุดไทย เพิ่อต้องการเรียกร้องให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกฝ่าย เข้ามาแก้ไขปัญหาและผลกระทบที่เกิดขึ้น โดยได้ทำจดหมายเปิดผนึก มีข้อความดังนี้

เนื่องด้วย กรณีที่บริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เจ้าของอาคารชุดแห่งหนึ่งบนถนนอโศกมนตรี ได้รับคำพิพากษาของศาลปกครองกลางให้ เพิกถอนใบอนุญาตก่อสร้างของโครงการพักอาศัยที่ก่อสร้างแล้วเสร็จ และได้รับอนุญาตให้เข้าอยู่โดยมีผู้เข้าอยู่อาศัยมานานมากกว่า 2 ปีแล้ว โดยให้มีผลเป็นการย้อนหลัง รายละเอียดปรากฏตามสิ่งที่ส่งมาด้วย(1)

สมาคมอาคารชุดไทย อันเป็นองค์กรที่จัดตั้งขึ้นโดยผู้ประกอบการและผู้ร่วมลงทุนจากนักลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศ มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาธุรกิจอาคารชุดให้เจริญก้าวหน้า ช่วยกันแก้ไขปัญหาอุปสรรคต่าง ๆ ที่มีอยู่ เผยแพร่แนวความคิด และรายละเอียดที่ถูกต้องการของอาคารชุดแก่ประชาชน ตลอดจนเป็นสื่อกลางที่จะติดต่อกับทางราชการและสถาบันการเงิน ซึ่งมีสมาชิกในขณะนี้รวมจำนวนกว่า 200 บริษัท โดยเป็นที่ทราบกันดีว่าธุรกิจนี้มีบทบาทสำคัญในการลงทุนของภาคเอกชน การจ้างงาน และการจัดสร้างที่อยู่อาศัยให้แก่ประชาชนตลอดมา

เกี่ยวกับเรื่องนี้ สมาคมอาคารชุดไทยได้ติดตามเหตุการณ์ดังกล่าวอย่างใกล้ชิดและพบว่า การเพิกถอนใบอนุญาตโดยมีผลย้อนหลัง แม้ว่าโครงการจะผ่านการพิจารณาจากหน่วยงานภาครัฐและรัฐวิสาหกิจทุกภาคส่วนตามขั้นตอนแล้ว ทั้งการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย สำนักงานเขตวัฒนา ผู้อำนวยการสำนักการโยธา และกรุงเทพมหานคร ซึ่งทำให้ได้รับใบอนุญาตครบถ้วนถูกต้อง แต่เมื่อเกิดเหตุการณ์ดังกล่าวทำให้เกิดข้อห่วงกังวลของผู้ได้รับผลกระทบทุกฝ่าย โดยมีโครงการที่มีลักษณะการใช้ที่ดินของหน่วยงานของรัฐเป็นทางเข้าออกนับร้อยโครงการฟอร์มตัวอย่างข่าวที่ส่งมาด้วย(2)

นอกจากนี้ เพียงโครงการดังกล่าวข้างต้นยังมีผู้พักอาศัยถึง 578 ครอบครัว จาก 20 ประเทศทั่วโลกที่ได้ใช้ทรัพย์ซื้อที่อยู่อาศัยอันเป็นสิ่งจำเป็นโดยสุจริต จากเหตุการณ์ข้างต้นอาจกระทบถึงความเชื่อมั่นของผู้บริโภคอันอาจมีผลต่อความสงบเรียบร้อยของสังคมโดยรวม โดยเฉพาะภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์และธุรกิจเกี่ยวเนื่อง เช่น ธุรกิจธนาคาร สินเชื่อลูกค้ารายย่อย หรือหลักประกันการชำระหนี้ต่าง ๆ ทุกฝ่ายขาดความเชื่อถือต่อระบบการขออนุญาตจากทางราชการ และมีผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนทั้งในและนอกประเทศ และส่งผลกระทบต่อการลงทุน การจ้างงาน และเศรษฐกิจของประเทศไทยเป็นอย่างมาก

ที่ว่างเปล่าที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ตลอดแนวก่อสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐาน ซึ่งอาจเป็นตะเข็บของสิ่งปลูกสร้าง หรือที่ดินอยู่เหนือ หรือใต้สิ่งปลูกสร้างโครงการสาธารณูปโภคที่สร้างแล้วเสร็จนั้น หน่วยงานรัฐ และรัฐวิสาหกิจที่เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ควรมีอำนาจและหน้าที่ในการบริหารจัดการพื้นที่ดังกล่าวให้เกิดประโยชน์และรายได้สูงสุด โดยอาจมีหรือไม่มีหน่วยงานร่วมพิจารณา เช่น กรมธนารักษ์ หรือหน่วยงานพิเศษใด เพื่อให้เกิดความโปร่งใส โดยรายได้ดังกล่าวจะใช้เป็นงบประมาณในหน่วยงาน เพื่อแบ่งเบาภาระทางการคลังประเทศ หรือนำส่งคืนคลังแผ่นดินเป็นประโยชน์แก่ประเทศต่อไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานการณ์ปัจจุบันที่ทุกหน่วยงานคุณช่วยลดภาระและสร้างรายได้เข้าสู่รัฐ ภายใต้กฎหมายทันสมัย และส่งเสริมต่อการบริหารประเทศ

จึงเรียนมาเพื่อขอความร่วมมือในการแก้ปัญหาอันเนื่องมาจาก ผลกระทบจากคำตัดสินของศาลปกครองกลาง ซึ่งมีผลกระทบในวงกว้างต่อธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ภาคประชาชนผู้สุจริต หลักความเชื่อมั่นในระบบเศรษฐกิจไทย

ขณะที่ ลูกบ้านของคอนโดมิเนียมแอชตัน อโศก ได้ออกแถลงการณ์ขอความชัดเจน กรณีศาลปกครองมีคำสั่งเพิกถอนใบอนุญาตก่อสร้างโครงการดังกล่าว โดยตัวแทนลูกบ้านแอชตันอโศก แถลงการณ์ผ่านเพจเฟซบุ๊ก หลังได้รับผลกระทบ กรณีศาลปกครองกลางมีคำสั่งเพิกถอนใบอนุญาตก่อสร้างโครงการ เนื่องจากก่อสร้างผิดกฏหมายควบคุมอาคาร และการออกใบอนุญาตเป็นไปโดยมิชอบด้วยกฎหมาย

เบื้องต้นกลุ่มลูกบ้านยืนยันว่า ก่อนการตัดสินใจซื้อคอนโดฯ ได้ตรวจสอบใบอนุญาตต่าง ๆ ซึ่งก็พบว่า บริษัทเจ้าของโครงการ ได้ปฏิบัติตามข้อกฎหมายทุกอย่าง มองว่าปัญหานี้เกิดจากการตีความทางกฎหมาย และอาจส่งผลกระทบต่ออีก 13 โครงการ ที่เข้าข่ายความผิดลักษณะเดียวกัน

โดยขณะนี้ลูกบ้านแอชตัน อโศก ได้รับผลกระทบแล้ว โดยเฉพาะผลกระทบด้านการทำนิติกรรมทางการเงิน เช่น ถูกปฏิเสธการขอสินเชื่อรีไฟแนนซ์ทันที ไม่สามารถทำธุรกรรมซื้อ-ขาย-โอนกรรมสิทธิ์ได้ เป็นต้น โดยเตรียมจ้างที่ปรึกษาทางกฎหมาย เป็นตัวแทนลูกบ้าน ในการดำเนินการทางกฎหมายต่างๆ พร้อมร้องขอความชัดเจน 3 ประเด็น คือ ใครจะเป็นผู้เยียวยาลูกบ้านที่ได้รับผลกระทบ หากคอนโดฯ ถูกทุบทิ้ง ใครจะเป็นผู้รับผิดชอบความเสียหายที่เกิดขึ้น รัฐ หรือ บริษัทเจ้าของโครงการ โดยลูกบ้านยืนยันว่า เคารพในคำตัดสินของศาล ซึ่งหากศาลปกครองสูงสุดมีคำตัดสินยืนยันตามศาลปกครองชั้นต้น ก็จะต้องมีมาตรการเยียวยาอย่างชัดเจน

ทั้งนี้ โครงการคอนโดมิเนียมแอชตัน อโศก เป็น อาคารสูง 51 ชั้น จำนวน 783 ยูนิต มูลค่าโครงการ 6,481 ล้านบาท เริ่มโอนกรรมสิทธิ์ตั้งแต่ปี 2561 ขายไปแล้ว 666 ยูนิต มูลค่า 5,639 ล้านบาท หรือ 87% มีผู้พักอาศัย 578 ครอบครัว เป็นลูกค้าต่างชาติ 140 ราย จาก 20 ประเทศ