เศรษฐกิจไทยจะต้องวิกฤตขนาดไหน ถึงต้องเล่นใหญ่ลดดอกเบี้ยรวดเดียวได้ ?

1234
0
Share:

เศรษฐกิจไทยจะต้องวิกฤตขนาดไหน ถึงต้องเล่นใหญ่ลด ดอกเบี้ย รวดเดียวได้ ?

ประเด็นฮอตร้อนฉ่าในทุกวงการเศรษฐกิจตอนนี้คงหนีไม่พ้นเรื่องของ “ดอกเบี้ย” ที่ต่างแสดงความคิดเห็น บทวิเคราะห์ การประเมิน ผลได้ ผลเสีย ผลดี ผลร้าย หลากหลายมิติ จากการลดหรือไม่ลดดอกเบี้ยนโยบายของทางแบงก์ชาติ

โดยหลังจากที่ประชุม กนง. ครั้งที่ 1/2567 ได้มีมติ 5 ต่อ 2 เสียง ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 2.50% โดยให้เหตุผลว่า เศรษฐกิจไทยมีปัญหาเชิงโครงสร้าง ซึ่งการลดอัตราดอกเบี้ยไม่ช่วยแก้ปัญหาการเติบโตต่ำได้ ทั้งยังเป็นการใช้ Policy Space ที่มีจำกัดอย่างไม่คุ้มค่า โดยคาดว่าเศรษฐกิจไทยในภาพรวมยังมีแนวโน้มขยายตัวได้ต่อเนื่องในช่วง 2.5–3.0% ในปี 2567

จากปัจจัยหนุนเรื่องของการบริโภคภาคเอกชนที่มีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง โดยมีแรงสนับสนุนจากการจ้างงานที่เพิ่มขึ้น การฟื้นตัวของรายได้ครัวเรือน ความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ปรับดีขึ้น รวมถึงภาคการท่องเที่ยวที่ขยายตัวจากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติและเครื่องชี้ความต้องการท่องเที่ยวในไทยที่อยู่ในทิศทางขยายตัว ซึ่งคาดว่าในปี 2567 จะอยู่ที่ 34.5 ล้านคน ขณะที่ภาคการส่งออกและการผลิตมีแนวโน้มขยายตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป ส่วนหนึ่งจากอุปสงค์สินค้าโลกที่ฟื้นตัวช้า และผลประโยชน์จากการกลับมาของวัฏจักรอิเล็กทรอนิกส์ที่น้อยลง

ปัญหาเชิงโครงสร้างที่กดดันภาคการส่งออกและภาคการผลิตมาเป็นเวลานานส่งผลชัดเจนขึ้นต่อเศรษฐกิจ โดยกลุ่มสินค้าส่งออกกว่า 70% ที่ฉุดรั้งมูลค่าการส่งออกในปี 2566 มาจากสินค้าที่เผชิญกับการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างและสูญเสียความสามารถในการแข่งขัน เช่น สินค้าหมวดปิโตรเคมีที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายของจีนที่ต้องการเพิ่มอุปสงค์ในประเทศ และลดการพึ่งพาปัจจัยการผลิตจากต่างประเทศ (Dual Circulation Strategy), สินค้า Hard Disk Drive ที่สูญเสียตลาดให้กับ Solid State Drive ซึ่งเป็นสินค้าทดแทนที่ผู้ประกอบการในไทยยังไม่มีความสามารถในการผลิต ทั้งนี้การส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ของไทยขยายตัวได้เฉลี่ย 4% ต่อปีในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ต่ำกว่าประเทศคู่แข่ง เช่น เวียดนาม ฟิลิปปินส์ และมาเลเซีย ที่ขยายตัว 37%, 14% และ 10% ตามลำดับ ที่สำคัญคือสินค้าเกษตร เช่น ข้าว โดยส่วนแบ่งตลาดส่งออกข้าวของไทยลดลง ล่าสุดมาอยู่ที่ 13% จาก 25% ในปี 2546

นอกจากนี้การผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศของไทยถูกกระทบจากการสูญเสียความสามารถในการแข่งขันเช่นกัน สะท้อนจากสัดส่วนสินค้านำเข้าต่อการบริโภคภาคเอกชนของไทยที่ปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา จาก 17% มาอยู่ที่ 24% ในปี 2566 โดยเป็นการนำเข้าสินค้าจากจีนที่เพิ่มขึ้นจาก 5% มาอยู่ที่ 9% ขณะที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปที่ติดลบก็ยังไม่ได้สะท้อนอุปสงค์ที่อ่อนแอ

จากที่ กนง. ให้เหตุผลว่าการที่ลดดอกเบี้ยอาจไม่ช่วยอะไร การคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายในระดับที่เป็นกลางต่อเศรษฐกิจ (Neutral Interest Rate) จะช่วยสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืน ซึ่งเหตุผลหลักๆ ที่ กนง. สื่อคือเรื่องของปัญหาเชิงโครงสร้าง หรือง่ายๆ ให้เห็นภาพอาจจะเปรียบได้ว่า “ตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ” เพราะเศรษฐกิจต่ำขนาดนี้ดอกเบี้ยคงเข็นไม่ขึ้น หรือไม่?

ด้านนายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ ก็ได้เรียกร้องให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ลดดอกเบี้ยนโยบายเนื่องจากตัวเลขเศรษฐกิจที่ออกมาค่อนข้างจะต่ำกว่าที่คาดไว้ และตัวเลขหนี้ที่ค้างชำระ ระหว่าง 1–3 เดือน (SML) หนี้เสีย (NPL) หนี้ครัวเรือน โดยอยากให้พิจารณาเรื่องมาตรการทางการเงิน ไม่ได้มีแค่เรื่องลดดอกเบี้ยเท่านั้น หลังจากที่ได้เปิดเผยตัวเลขเศรษฐกิจทั้งปี 2566 ที่ขยายตัวเพียง 1.9% ตํ่ากว่าที่คาดว่าจะขยายตัว 2.5% ส่วน กนง. จะมีการประชุมนัดพิเศษเพื่อหารือเรื่องดอกเบี้ยหรือไม่ แล้วแต่ กนง. จะพิจารณา

อย่างไรก็ตาม ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว Nikkei Asia เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ ในบางช่วงบางตอน ระบุว่า ธปท. ไม่เอาด้วยกับการเรียกร้องให้จัดประชุมฉุกเฉิน เพื่อลดอัตราดอกเบี้ย ปัญหาเชิงโครงสร้างและวัฏจักรที่ส่งผลต่อเศรษฐกิจไทยจะไม่ได้รับการแก้ไขด้วยการกลับทิศทางนโยบายการเงิน

“ธนาคารกลาง ‘ไม่ได้ดันทุรัง’ ในเรื่องอัตราดอกเบี้ยที่ปัจจุบันอยู่ในระดับสูงในรอบทศวรรษ แต่ขอให้พิจารณาตัวเลขล่าสุดที่แสดงถึงการเติบโตทางเศรษฐกิจที่อ่อนแอและอัตราเงินเฟ้อทั่วไปที่ติดลบ ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศเติบโตเพียง 1.9% ในปี 2566 ซึ่งต่ำกว่าการคาดการณ์ของตลาด เนื่องจากสถานการณ์ทางการเมืองที่ไม่ไปไหนทำให้งบประมาณรัฐบาลปี 2567 ล่าช้า”

“ถ้าเราลดอัตราดอกเบี้ยลง ก็ไม่ได้ทำให้นักท่องเที่ยวจีนจับจ่ายมากขึ้น หรือทำให้บริษัทจีนนำเข้าปิโตรเคมีจากไทยมากขึ้น หรือทำให้รัฐบาลเบิกจ่ายงบประมาณเร็วขึ้น และนั่นคือ 3 ปัจจัยหลักที่ทำให้เศรษฐกิจเติบโตช้า”

ดร.เศรษฐพุฒิ กล่าวถึงความสัมพันธ์ของเขากับนายกรัฐมนตรี ซึ่งดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงการคลังด้วยว่ามีความ “เป็นมืออาชีพ” และมีความ “จริงใจ” แต่ปฏิเสธว่าเศรษฐกิจไทยอยู่ใน “วิกฤต” นายกรัฐมนตรีเศรษฐาได้ชี้ให้เห็นถึงตัวเลขทางเศรษฐกิจที่อ่อนแอมาตลอดเพื่ออ้างได้ว่าเศรษฐกิจวิกฤตเพื่อที่จะได้รับการอนุมัติจากกระบวนการทางนิติบัญญัติ ให้เดินหน้านโยบาย ‘ดิจิทัลวอลเลต’ ได้ “การฟื้นตัวแม้อ่อนแอ แต่ก็ฟื้นและต่อเนื่อง”

ซึ่งหลังจากได้เห็นบทสัมภาษณ์ดังกล่าว นายกฯ รัฐมนตรี เศรษฐา ได้ออกมาเรียกร้องอีกครั้งเมื่อวันจันทร์ (19 กุมภาพันธ์) ให้ ธปท. จัดการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ฉุกเฉินก่อนการประชุมปกติครั้งต่อไปซึ่งตามกำหนดคือจะมีขึ้นในวันที่ 10 เมษายน 2567

ด้านสำนักวิจัย CIMB Thai โดยนายอมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสำนักวิจัย ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย จำกัด (มหาชน) ได้ออกมาค้านลดดอกเบี้ยนโยบาย เพราะเชื่อว่าหากอยากให้ได้ผลต้องลดลงแรงจริง และยังบอกด้วยว่าดอกเบี้ยไม่ใช่ยารักษาทุกโรค ถ้าลดดอกเบี้ยเพียง 0.25% หรือ 0.50% ไม่เพียงพอต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่ต้องลดลงถึง 1.25% จึงจะมากพอ ซึ่งเป็นการปรับลดในระดับวิกฤตการเงิน และเป็นระดับเดียวกับก่อนเกิดวิกฤตโควิด ผลข้างเคียงของการลดดอกเบี้ยนี้จะทำให้ค่าเงินบาทอ่อนค่า และอาจเป็นการประกาศสงครามค่าเงินกับเพื่อนบ้าน เพราะบาทที่อ่อนจะแย่งชิงความสามารถในการแข่งขันกับประเทศคู่แข่ง และอาจลามเป็นการอ่อนค่าของค่าเงินในภูมิภาคได้ในภายหลัง

และยังแสดงมุมมองด้วยว่าความขัดแย้งระหว่างการเมืองและเศรษฐกิจเป็นประเด็นที่น่าติดตาม โดยรัฐบาลคาดหวังการลดอัตราดอกเบี้ยเพื่อพยุงเศรษฐกิจ ขณะที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่ยังตรึงดอกเบี้ยเพื่อรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจ โดยความขัดแย้งด้านทิศทางดอกเบี้ยมีส่วนกระทบความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติ

ด้าน ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล กรรมการรองผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ และประธานสภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) แสดงความเห็นว่าดอกเบี้ยนโยบายในปัจจุบัน มองว่าปกติดอกเบี้ยจะดูตามประมาณการของเงินเฟ้อและเศรษฐกิจ ปัญหาคือในไตรมาสที่ 4 เศรษฐกิจอ่อนกว่าที่คาดการณ์ไว้ ขณะที่การประมาณการเศรษฐกิจในปีนี้เฉลี่ยยังอยู่ที่ 2–3% การที่เศรษฐกิจอ่อนลงและเงินเฟ้อต่ำกว่าที่คาดไว้ก็สามารถที่จะมีการกระตุ้นจากนโยบายการเงินบ้าง เพียงต้องตัดสินใจว่าเวลาไหนถึงจะเหมาะสม และต้องมองถึงอนาคตว่าการลดดอกเบี้ยจะเป็นจังหวะไปเสริมกับเศรษฐกิจที่ฟื้นแล้วเพราะดอกเบี้ยกว่าจะออกผลต้องใช้เวลาประมาณเกือบ 1 ปี

ที่ผ่านมายังมีอีกหลายความคิดเห็น และหลายบทวิเคราะห์ที่มีมุมมองแตกต่างกันไป แต่ในท้ายที่สุดไม่ว่าจะลด หรือไม่ลดดอกเบี้ย ประชาชนตาดำๆ ก็คงจะหวังแค่เพียงว่าสิ่งที่รัฐบาลหรือแบงก์ชาติ จะดำเนินไปขอให้นึกถึงประชาชนและประโยชน์ที่จะตกถึงประเทศชาติที่แท้จริง ไม่ใช่แค่นโยบายฉาบฉวย หรือเกมทางการเมือง…

BTimes