วลาดิเมียร์ ปูติน ผยองต่ออีก 6 ปี ผลเลือกตั้งเบื้องต้นเกือบ 90% หนุนนั่งประธานาธิบดีต่อ

79
0
Share:
วลาดิเมียร์ ปูติน ผยองต่ออีก 6 ปี ผลเลือกตั้งเบื้องต้นเกือบ 90% หนุนนั่งประธานาธิบดีต่อ

ประธานาธิบดีรัสเซีย นายวลาดิเมียร์ ปูติน กล่าวแถลงผ่านสถานีโทรทัศน์ทั่วประเทศรัสเซียว่า ไม่ว่าใครก็ตามที่ต้องการจะเอาชนะรัสเซียมากขนาดไหน ความต้องใจของเรา จิตสำนึกของเรา ทำให้ไม่มีใครในประวัติศาสตร์ที่จะทำสำเร็จกับรัสเซีย พวกเขาทำมาถึงปัจจุบันนี้ไม่สำเร็จ และจะไม่มีวันสำเร็จ

ทางการรัสเซีย เปิดเผยว่า โดยอ้างว่าผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีรัสเซียเบื้องต้น พบว่า มีสัดส่วนสูงถึง 87.2% ที่สนับสนุนลงคะแนนเลือกนายวลาดิเมียร์ ปูติน ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีรัสเซียต่ออีกสมัย ซึ่งจะอยู่ในตำแหน่งอีกเป็นเวลา 6 ปี จนถึงปี 2030 ขณะที่ผลการเลือกตั้งในเบื้องต้นดังกล่าวนั้น ทางการรัสเซียอ้างว่ามีประชาชนรัสเซียสนับสนุนมากขึ้นจากเดิมในปี 2018 ที่มีสัดส่วนผู้สนับสนุนที่ 77%

นายวลาดิเมียร์ ปูติน อายุ 71 ปี ได้กลายเป็นผู้นำและผู้ปกครองสูงสุดที่ยาวนานที่สุดนับตั้งแต่อดีตผู้นำสูงสุด และจอมเผด็จการชื่อดังลั่นโลกของสหภาพโซเวียตนายโจเซฟ สตาลิน นายปูตินสามารถขยายระยะเวลาครองอำนาจปกครองรัสเซียอย่างต่อเนื่องมาถึง 25 ปี หรือ 1 ใน 4 ของศตวรรษด้วยการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีรัสเซียถึง 5 สมัยมาถึงปัจจุบันนี้

นายวลาดิเมียร์ ปูติน กล่าวเมื่อวันอาทิตย์ผ่านมาว่า ความขัดแย้งโดยตรงใดๆก็ตามระหว่างรัสเซียกับกลุ่มนาโต้ที่มีสหรัฐอเมริกาเป็นผู้นำและสนับสนุน จะกลายเป็นอีกหนึ่งขั้นของการนำไปสู่สงครามโลกครั้งที่ 3 อย่างเต็มรูปแบบ ด้านประธานาธิบดียูเครน นายโวโลดีมีร์ เซเลนสกี กล่าวว่า นายปูตินเสพติดอำนาจ และทำทุกสิ่งทุกอย่างที่ต้องการปกครองตลอดนิรันดร์กาล ดังนั้นไม่มีใครในโลกใบนี้จะอยู่อย่างปลอดภัยอีกต่อไป

ผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีรัสเซียในช่วง 3 วันแรกอย่างไม่เป็นทางการ พบว่า มีผู้สนับสนุนนายวลาดิเมียร์ ปูติน ที่ 74.2% ส่งผลมีคะแนนสนับสนุนนายปูตินสูงสุดนับตั้งแต่ในสมัยอดีตประธานาธิบดีบอริส เยลซิน เป็นประธานาธิบดีรัสเซียในปี 1991 หลังจากสหภาพโซเวียตถึงคราวล่มสลาย อย่างน้อยใน 6 ภูมิภาคของรัสเซีย อ้างว่าผลการสนับสนุนนายปูตินมีมากกว่า 90%

เศรษฐกิจรัสเซียฝ่าฟันมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจที่มีขนาดใหญ่ครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ของชาติตะวันตกนับตั้งแต่นายวลาดิเมียร์ ปูติน ประกาศทำสงครามบุกรุกประเทศยูเครนเมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ปี 2022 มาถึงปัจจุบัน สสาเหตุที่เศรษฐกิจรัสเซียยังสามารถฝ่าฟันมาได้เป็นผลจากรายได้การขายพลังงานด้านน้ำมันดิบ และก๊าซธรรมชาติให้กับพันธมิตรสำคัญอย่างจีน อย่างไรก็ตาม รายได้ดังกล่าวไม่ได้สูงมากมายเมื่อเทียบกับช่วงก่อนทำสงครามกับยูเครน นอกจากนี้ การใช้จ่ายงบประมาณของรัฐบาลรัสเซียด้านการทหารอย่างมากมายในการทำสงครามกับยูเครน ส่งผลมีเม็ดเงินกระตุ้นอุตสาหกรรมผลิตอาวุธ และปกป้องธุรกิจภายในประเทศจากโลกตะวันตก