วัคซีนที่ดี! จี้ฉีดวัคซีนผลิตด้วย mRNA ตัวอื่นแทนซิโนแวค เตรียมรับมือสายพันธุ์อินเดียไม่เกิน 2-3 เดือนหน้า

469
0
Share:
เฟสบุ๊กชื่อดัง Gossipสาสุข โพสต์ข้อความเกี่ยวกับปัญหาของวัคซีนซิโนแวค โดยเฉพาะสายพันธุ์เดลต้า(อินเดีย) ในไทยที่จะระบาดมากขึ้น 2-3 เดือนข้างหน้านี้ มีดังนี้
ปัญหาของ “ซิโนแวค” เริ่มชัดขึ้นทั่วโลก “เมื่อวัคซีนที่ดี คือวัคซีนที่ไทยไม่มี”
ตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา มีข่าวที่ไม่ค่อยจะดีนักเกี่ยวกับวัคซีนโควิด-19 ประเภทเชื้อตายของบริษัท “ซิโนแวค” ซึ่งถือเป็นวัคซีนหลักของไทยขณะนี้ อย่างน้อยก็ 2 เรื่อง.. หนึ่ง คือข่าวในอินโดนีเซีย ประเทศที่ใช้ซิโนแวคเป็นประเทศหลัก พบหมอ – บุคลาการทางการแพทย์ติดเชื้อโควิด-19 แม้จะได้รับวัคซีนครบ 2 โดสแล้ว และในจำนวนนี้ เกิน 10 คน มีอาการหนัก ถึงขั้นต้องเข้าโรงพยาบาล แม้จะยังไม่ชัดว่าด้วยสาเหตุใด แต่ก็อนุมานได้ว่าเป็นเพราะสายพันธุ์เดลต้า ที่พบครั้งแรกในอินเดีย และซิโนแวค ป้องกันได้ไม่ดีมากนัก ทำให้เชื้อไวรัส ทะลุภูมิที่วัคซีนให้ไว้ได้
.
อีกเรื่องหนึ่งเกิดที่ฮ่องกง ในเวลาไล่เลี่ยกัน การศึกษาพบว่าภูมิคุ้มกันต่อโควิด-19 ของผู้ที่ฉีดวัคซีนซิโนแวคในฮ่องกงนั้นไม่ได้ดีนัก เมื่อเทียบกับวัคซีนหลักอีกตัวของฮ่องกงอย่าง ไฟเซอร์ พร้อมกับมีคำแนะนำให้ผู้ที่ฉีดวัคซีนซิโนแวค เร่งฉีดเข็มที่ 3 เรื่องเหล่านี้ เกิดขึ้นพร้อมๆ กับที่ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) ประกาศว่าจะสั่งซื้อวัคซีนซิโนแวคเพิ่มเติมอีก 28 ล้านโดส ตามแผนวัคซีน 150 ล้านโดส ในปี 2565 เพิ่มเติมจากตอนนี้ที่ทั้งฉีดไปแล้ว และจองไปแล้ว 19.5 ล้านโดส ซึ่งจะทำให้ไทยมีซิโนแวคเป็นวัคซีนหลักรวม 47.5 ล้านโดส เป็นรองเพียงแอสตร้าเซนเนก้า ซึ่งมี 61 ล้านโดสในขณะนี้เท่านั้น เรียกเสียงฮือฮาให้กับวงการสาธารณสุขไทย ว่าในเมื่อประสิทธิภาพไม่ได้ดีเทียบเท่ากับตัวอื่น และทั่วโลก มีวัคซีนยี่ห้ออื่นไม่ต่ำกว่าสิบยี่ห้อ เพราะเหตุใดจึงยังยึดติดเฉพาะซิโนแวค
.
อันที่จริง Gossipสาสุข เคยเอ่ยถึงไปแล้วตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ว่า บุคลากรสาธารณสุขในไทยจำนวนมากนั้น “ไม่ไว้ใจ” ซิโนแวคเอาเสียเลย ตั้งแต่ช่วงแรกๆ คือเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ – มีนาคมที่ผ่านมา ก่อนจะมีการระบาดระลอก 3 เพราะอย่างที่รู้กันก็คือผลทดสอบโดยสถาบัน Butantan ที่บราซิลนั้น พบว่าซิโนแวค มีประสิทธิภาพเพียงแค่ 50% และทั่วโลก ก็แทบไม่มีใครใช้วัคซีนยี่ห้อนี้ ต้องไม่ลืมว่าในเวลานั้น แทบจะอ้างอิงผลการทดลองที่ “เป็นบวก” จากประเทศเดียว คือจากจีน ที่ นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ยืนยันว่าฉีดไปแล้วหลายสิบล้านโดส และก็หยุดยั้งการระบาดของโรคได้ดี
.
กระนั้นเอง ก็ยังไม่มีผลการทดลองในผู้สูงอายุ ทำให้ซิโนแวคในช่วงแรก ใช้เฉพาะในวัยทำงาน นายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และคณะรัฐมนตรีส่วนใหญ่ก็ไม่ได้รับวัคซีนตัวนี้ หันไปรับแอสตร้าเซเนก้าแทน และกลุ่มแรกๆ ที่ได้รับก็หนีไม่พ้นบุคลากรทางการแพทย์ ที่ต้องฉีดไว้ก่อน เพราะถือเป็น “กลุ่มเสี่ยง” มากที่สุด เช่นเดียวกับบรรดาเจ้าหน้าที่รัฐ ทหาร – ตำรวจ แต่ในเวลานั้น ต้องไม่ลืมว่ามีหลายคนเซ็นเอกสารว่าไม่ขอรับวัคซีนตัวนี้ เพราะเกิดผลข้างเคียงในหลายคน และมีข่าวไม่ค่อยดีว่าเกิดอาการ “อัมพฤกษ์ชั่วคราว” ซึ่งแม้ทีมแพทย์จะออกมาปฏิเสธ แต่ก็ไม่สามารถสร้างความเชื่อใจได้มากนัก
.
ตลอดเดือน เม.ย. – พ.ค. ไทยแทบจะใช้ซิโนแวคเป็นวัคซีนหลัก นอกจากบุคลากรทางการแพทย์แล้ว อีกหนึ่งพื้นที่ที่มีการระดมฉีดซิโนแวคก่อนพื้นที่ใดในประเทศ ก็คือภูเก็ต ซึ่งตั้งใจจะเปิดโครงการ ภูเก็ต Sandbox ในวันที่ 1 ก.ค. ตั้งแต่เดือนเม.ย. ภูเก็ตฉีดวัคซีนให้กับประชากรไปแล้วกว่า 3.5 แสนคน เพื่อเตรียมรองรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ ซึ่งหากจะเข้าไทย ต้องเข้าภูเก็ตก่อนเป็นหลัก ก่อนจะเดินทางไปยังจังหวัดอื่นได้ ซึ่งการฉีดวัคซีนให้กับคนภูเก็ต ก็เพื่อให้คนภูเก็ตมีภูมิพอที่จะรองรับกับชาวต่างชาติที่จะเดินทางมาจากทั่วโลกได้
.
ปัญหาก็คือ เมื่อมีการศึกษาออกมาแล้วว่าภูมิคุ้มกันจากซิโนแวคไม่ได้ดีอย่างที่คิด ประกอบกับสถานการณ์การระบาดในไทย มีแนวโน้มที่จะมีสายพันธุ์ “เดลต้า” มากขึ้นเรื่อยๆ จนกลายเป็นสายพันธุ์หลักในอีก 2-3 เดือนข้างหน้า ตามแนวโน้มเดียวกับทั่วโลก เพราะเดลต้านั้น นอกจากจะทะลุทะลวงซิโนแวคแล้ว ยังสามารถแพร่ระบาดได้รวดเร็วกว่าสายพันธุ์อื่นๆ
นั่นทำให้กลุ่มหลักที่ฉีดซิโนแวคไปแล้วขณะนี้ คือแพทย์ – บุคลากรทางการแพทย์ ประชาชนที่ฉีดวัคซีนตัวนี้ไปแล้วหลายล้านคน รวมถึงรัฐมนตรีที่ฉีดวัคซีนตัวนี้บางคน อาทิ อนุทิน ชาญวีรกูล รมว.สาธารณสุข หรือ ศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม ล้วนมีความเสี่ยงกับโควิด-19 อยู่ดี โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คนภูเก็ต ที่กลายเป็น “ด่านหน้า” ในการสัมผัสเชื้อนี้กับชาวต่างชาติ ก็ยังมีความเสี่ยงอยู่ดี เพราะสายพันธุ์เดลต้านั้น เริ่มระบาดในหลายประเทศทั่วโลกแล้ว และองค์การอนามัยโลก คาดว่าจะเป็นสายพันธุ์หลักที่ระบาดทั่วโลกในไม่ช้า
.
เมื่อไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา เพิ่งมีบุคลากรทางการแพทย์ที่ฉีดซิโนแวคครบ 2 เข็มแล้ว ติดโรคนี้ซ้ำ เท่านั้นยังไม่พอ ยังนำเชื้อไปติดคนที่บ้านอีก ซึ่งทำให้เห็นว่าในสถานการณ์แบบนี้ ซิโนแวคอาจไม่ใช่วัคซีนที่ดี และวัคซีนที่มี ก็อาจไม่ใช่วัคซีนที่ดีอีกต่อไป วันนี้ แม้แต่ นพ.ยง ภู่วรวรรณ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก็ยังยอมรับว่า ซิโนแวคนั้น ไม่ได้ดีนัก ต่างจากก่อนหน้านี้ ที่ “เชียร์” มาโดยตลอด ซ้ำยังเชียร์ให้ฉีดสองอย่างผสม ซึ่งก็อาจแปลเป็นนัยได้ว่า หากยังฉีดเป็นวงกว้างอย่างนี้ ยิ่งทำให้เกิดความเสี่ยงที่จะ “คุมไม่ได้” ไปเปล่าๆ
.
เพราะฉะนั้น สิ่งที่ ศบค. ควรตัดสินใจในเวลานี้ก็คืออาจต้องเร่งฉีดวัคซีนตัวอื่น (ซึ่งในเวลานี้ มีตัวเดียวคือแอสตร้าเซนเนก้า) ให้กับบุคลากรทางการแพทย์ และประชากรภูเก็ตใหม่อีกรอบ เพื่อเป็นบูสเตอร์ กระตุ้นภูมิคุ้มกันจากซิโนแวค ที่เวลานี้ เริ่มเห็นชัดแล้วว่ากันสายพันธุ์เดลต้าได้น้อย และแม้แต่สายพันธุ์ธรรมดา ก็กระตุ้นภูมิได้ไม่มากนัก ขณะเดียวกัน ก็ควรพิจารณาสั่งซื้อวัคซีนตัวอื่นๆ โดยเฉพาะวัคซีนชนิด mRNA ได้แล้ว จนกว่าจะมีการศึกษาว่า ซิโนแวค ได้ปรับปรุงวัคซีนตัวเอง หรือมีข้อมูลยืนยันว่าสามารถจัดการกับสายพันธุ์ใหม่ๆ ได้จริง
.
หากยังสั่งดะแบบนี้ ทั้งที่ไม่ได้ใช้หลักฐานยืนยัน ไม่ได้สนใจว่าเกิดอะไรขึ้นทั่วโลก ก็ไม่แปลกที่มีจะมีคนครหาว่า ศบค. และรัฐบาลชุดนี้ อาจมีเรื่อง “ฮั้ว” กับผู้ผลิต และผู้จัดจำหน่ายวัคซีน เรื่องนี้ เกี่ยวข้องกับชีวิตความเป็นความตายของประชาชนทั้งสิ้น ขออย่าให้เป็นแบบนั้นเลย