ศบค.ชุดใหญ่ เตรียมพิจารณาเคาะขยาย “พ.ร.ก.ฉุกเฉิน”

320
0
Share:

ศบค.ชุดใหญ่ เตรียมพิจารณาเคาะขยาย “พ.ร.ก.ฉุกเฉิน” -ปรับเวลาเคอร์ฟิว-เลื่อนเปิดท่องเที่ยว-ปลดล็อก 11 กิจกรรมทางเศรษฐกิจ
.
ในวันนี้ที่การประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) จะพิจารณาข้อเสนอการขยายระยะเวลาบังคับใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ออกไปอีก 2 เดือน รวมถึงเสนอเลื่อนการเปิดพื้นที่ Sandbox เพิ่มเติม 5 จังหวัด จากเดิมวันที่ 1 ต.ค.ออกไปเป็นวันที่ 1 พ.ย.64
.
ซึ่งจะทำการพิจารณาข้อเสนอผ่อนคลายกิจกรรม 10 ประเภท คือ 1. ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก และวัยก่อนเรียน 2. ห้องสมุดสาธารณะ/เอกชน/ชุมชน 3. พิพิธภัณฑ์/แหล่งประวัติศาสตร์/โบราณสถาน 4. ศูนย์การเรียนรู้/ศูนย์วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรม/หอศิลป์ 5. กีฬาในร่ม ในห้องที่มีระบบปรับอากาศ ฟิตเนส 6. ร้านทำเล็บ 7.ร้านสัก 8. ร้านนวด สปา เพื่อสุขภาพ 9. ธุรกิจโรงภาพยนตร์/ฉายภาพยนตร์ และ 10. การเล่นดนตรีในร้านอาหาร
.
ซึ่งผู้ประกอบการต้องมีการตรวจสอบและปรับปรุง ระบบหมุนเวียนอากาศ จัดสถานที่ให้เป็นไปตามมาตรการ COVID-Free Setting ก่อนเปิดทำการ สำหรับศูนย์การค้า ห้างสรรพสินค้า สถานที่กลุ่มกีฬากลางแจ้งที่ร่มโล่งอากาศถ่ายเทสะดวก การซ้อมของนักกีฬาทีมชาติไทยทุกประเภท และร้านสะดวกซื้อ ตลาดสด ตลาดนัด (เฉพาะที่จำหน่ายเครื่องอุปโภคบริโภค) จะพิจารณาให้ขยายเวลาเปิดให้บริการเป็นไม่เกิน 21.00 น.
.
และยังได้เตรียมจะพิจารณาข้อเสนอปรับเวลาการห้ามออกนอกเคหะสถานหรือเคอร์ฟิว เป็นเวลา 22.00 น.ถึง เวลา 04.00 น.
.
ด้านการปรับลดระยะเวลากักตัวผู้เดินทางเข้ามาในประเทศ หากเป็นผู้ที่มีเอกสารรับรองการฉีดวัคซีนครบตามเกณฑ์อย่างน้อย 14 วัน จะกักตัว 7 วัน และต้องตรวจหาเชื้อด้วยวิธี RT-PCR 2 ครั้ง ส่วนผู้ที่เดินทางเข้ามาทางอากาศ ไม่มีเอกสารรับรองการฉีดวัคซีน จะต้องกักตัวอย่างน้อย 10 วัน และตรวจหาเชื้อด้วยวิธี RT-PCR 2 ครั้ง รวมถึงผู้ที่เดินทางเข้ามาทางบก ไม่มีเอกสารรับรองการฉีดวัคซีน ต้องกักตัวอย่างน้อย 14 วัน และตรวจหาเชื้อด้วยวิธี RT-PCR 2 ครั้ง
.
ขณะที่การเข้าพักที่โรงแรมกักตัวทางเลือก อนุญาตให้ออกกำลังกายกลางแจ้ง ว่ายน้ำ ปั่นจักรยาน สั่งซื้อสินค้า อาหารจากภายนอก รวมถึงประชุมสำหรับนักธุรกิจระยะสั้น ส่วนสถานกักกันของรัฐและ การกักกันผู้เดินทางในสถานที่เอกเทศ อนุญาตการออกกำลังกายกลางแจ้ง สั่งซื้อสินค้า อาหารจากภายนอก
.
ทั้งนี้จะพิจารณาแนวทางการเปิดพื้นที่นำร่องการท่องเที่ยวพื้นที่สีฟ้า คือการจัดพื้นที่ที่สามารถเดินทางท่องเที่ยวได้ทั้งจังหวัด การจัดพื้นที่ที่สามารถเดินทางท่องเที่ยวได้ทั้ง อำเภอ ตำบล หรือหมู่บ้าน ขึ้นอยู่กับความพร้อม การจัดพื้นที่ที่สามารถเดินทางท่องเที่ยวได้ เฉพาะสถานที่/พื้นที่ หรือระหว่างสถานที่/ระหว่างสถานที่/พื้นที่โดยมีการเดินทางแบบควบคุม Sealed Route ในรูปแบบ Bubble and Seal
.
ซึ่งการดำเนินการต้องตอบโจทย์เรื่องการกระตุ้นเศรษฐกิจควบคู่กับการควบคุมโรคอย่างเหมาะสม โดยต้องมีแผนเตรียมการและทรัพยากรรองรับสถานการณ์ เพื่อให้เกิดความปลอดภัย ป้องกันการแพร่ระบาดรวมทั้งสร้างความมั่นใจแก่นักท่องเที่ยว และประชาชนในพื้นที่