“ศักดิ์สยาม” ยก “วงแหวนโยโกฮามา” อุโมงค์ทางด่วนญี่ปุ่น พร้อมศูนย์ควบคุมจราจร

273
0
Share:
ศักดิ์สยาม ยก วงแหวนโยโกฮามา อุโมงค์ทางด่วน ญี่ปุ่น พร้อม ศูนย์ควบคุมการจราจร

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ได้นำคณะผู้บริหารกระทรวงคมนาคม เข้าเยี่ยมชมศูนย์การควบคุมการจราจร และโครงการวงแหวนโยโกฮามา (อุโมงค์ทางด่วน) ของบริษัท Metropolitan Expressway จำกัด ณ เมืองโยโกฮามา ประเทศญี่ปุ่น โดยทําให้ได้เห็นถึงแนวปฏิบัติที่ดีในการบริหารจัดการทางพิเศษ (ด่วน) การใช้นวัตกรรมมาช่วยสนับสนุนในการกำกับดูแลการจราจรและความปลอดภัยบนทางด่วน รวมถึงเทคโนโลยีในการก่อสร้างถนน และอุโมงค์ทางลอดของประเทศญี่ปุ่น ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในการพัฒนา และกำกับดูแลโครงการถนน อุโมงค์ และทางด่วนของหน่วยงานฝ่ายไทย อาทิ กรมทางหลวง (ทล.) กรมทางหลวงชนบท (ทช.) และการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ต่อไป

สำหรับโครงการวงแหวนโยโกฮาม่า (อุโมงค์ทางด่วน) มีระยะทาง 5.9 กิโลเมตร (กม.) ถือเป็นอุโมงค์ที่ยาวที่สุดในเขตมหานครโตเกียว มีวัตถุประสงค์ในการก่อสร้างและให้บริการ เพื่อลดความแออัดของการจราจร ลดผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อม รวมถึงเพื่อเชื่อมต่อท่าเรือเศรษฐกิจของเมืองโยโกฮาม่ากับส่วนอื่นๆ ของประเทศ และส่งเสริมความแข็งแกร่งในการแข่งขันทางการตลาดในต่างประเทศ โดยโครงการอุโมงค์ฯ เป็นส่วนหนึ่งของทางด่วนวงแหวนโยโกฮามา ที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของบริษัท Metropolitan Expressway จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทเอกชนที่รับผิดชอบการก่อสร้าง ปรับปรุง บำรุงรักษา และซ่อมแซมฟื้นฟู ถนนและทางด่วน รวมถึงการบริหารจัดการที่จอดรถ จุดพักรถของทางด่วน และพื้นที่ให้เช่าบริเวณด้านล่างส่วนยกระดับของทางหลวง

นอกจากนี้ได้ร่วมประชุมหารือทวิภาคีกับ นายนากาจิม่า มาซะฮิโระ ประธานองค์กรพัฒนาและฟื้นฟูเมืองญี่ปุ่น (Urban Renaissance Agency: UR) และเยี่ยมชมการพัฒนาโครงการพัฒนาเมืองมินาโตะ มิไร (Minato Mirai : MM21) ซึ่งถือเป็นโอกาสสำคัญในการผลักดันประเด็นความร่วมมือระหว่าง UR กับหน่วยงานกระทรวงคมนาคม ได้แก่ สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) และบริษัท เอสอาร์ที แอสเสท จำกัด (SRT Asset) โดยเฉพาะการพัฒนาพื้นที่สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ 2,325 ไร่

นายศักดิ์สยาม กล่าวด้วยว่า ปัจจุบัน UR ร่วมกับ บริษัท SRT Asset อยู่ระหว่างศึกษา และพิจารณาพื้นที่นำร่องโครงการ (Leading Project Plan) วิสัยทัศน์การพัฒนาโครงการ และโครงสร้างหน่วยงานที่เหมาะสมสำหรับการบริหารพื้นที่รอบสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ในระยะยาว ทั้งนี้ฝ่ายไทยได้ขอให้ UR พิจารณาสนับสนุนการศึกษาแผนแม่บทของโครงการ (Master Plan) รวมถึงรายละเอียดของแผนปฏิบัติการ (Action Plan) เพื่อขับเคลื่อนการดำเนินการตามแผนงานให้บรรลุวัตถุประสงค์ และเกิดผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรม รวมถึงการสนับสนุนการประชาสัมพันธ์การพัฒนาโครงการ และจัดทำแผนเพื่อกระตุ้นการลงทุน ดึงดูดภาคธุรกิจโดยเฉพาะนักลงทุนที่มีศักยภาพจากประเทศญี่ปุ่นด้วย

ทั้งนี้โครงการพัฒนาเมืองมินาโตะ มิไร มีวัตถุประสงค์เพื่อเชื่อมโยงท่าเรือ และย่านอุตสาหกรรมเข้าด้วยกัน และแบ่งเบาความหนาแน่นของมหานครโตเกียวสู่ปริมณฑลใกล้เคียง และเนื่องจากการที่เมืองโยโกฮามา เชื่อมต่อกับกรุงโตเกียวด้วยระบบรถไฟความเร็วสูง และเป็นเมืองเศรษฐกิจที่มีท่าเรือที่สำคัญ ผนวกกับโครงการฯ มีการวางรูปแบบผังเมืองที่เป็นสัดส่วนและเป็นระบบ ทำให้ปัจจุบันได้พัฒนากลายเป็นที่ตั้งของอาคารสำนักงานธุรกิจชั้นนำ แหล่งที่อยู่อาศัย โดยเฉพาะคอนโดมิเนียมระดับสูง และสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ อาทิ พื้นที่เชิงพาณิชย์ ศูนย์กลางการค้าของเมืองโยโกฮามา พื้นที่ค้าปลีก และห้างสรรพสินค้า Yaesu Shopping Mall ซึ่งเชื่อมต่อกับสถานีรถไฟโดยตรง ซึ่งการเยี่ยมชมโครงการ “มินาโตะ มิไร” ครั้งนี้ ทำให้กระทรวงคมนาคมสามารถถอดบทเรียนในการพัฒนาเมืองใหม่ และพื้นที่รอบสถานีที่เชื่อมต่อกับโครงข่ายระบบขนส่งมวลชนอย่างมีประสิทธิภาพ อันจะเป็นแนวทางสำคัญในการกำหนดนโยบายการพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์ของภาครัฐ เพื่อกระจายความเจริญ และการเติบโตทางเศรษฐกิจ ไปสู่พื้นที่อื่นนอกเหนือจากกรุงเทพฯ และแก้ไขปัญหาความแออัด และการจราจรที่ติดขัดในกรุงเทพมหานครอย่างยั่งยืน