ศูนย์วิจัยไทยพาณิชย์ชี้ส่งออกไทยปี 65 ชะลอตัวที่ 3.4% โอไมครอน-ไมโครชิปขาดแคลน

414
0
Share:

ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ หรือ EIC เปิดเผยว่า การส่งออกในเดือน พ.ย. 2564 ยังขยายตัวสูงต่อเนื่องและเร่งขึ้นจากเดือนก่อนหน้า โดยมีปัจจัยหนุนจากการฟื้นตัวของการบริโภค การผลิตทั่วโลก การอ่อนค่าของเงินบาท และการปรับตัวเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าโภคภัณฑ์

การส่งออกเดือนพฤศจิกายน ยังคงขยายตัวในระดับสูงต่อเนื่องที่ 24.7% เทียบช่วงเดียวกันในปี 2563 ขยายตัวในทุกหมวดสินค้าสำคัญยกเว้นผลิตภัณฑ์ยาง และทุกตลาดสำคัญยกเว้นญี่ปุ่นที่ทรงตัว โดยปรับเร่งขึ้นจากเดือนก่อนหน้าหากเทียบกับเดือนก่อนหน้าแบบปรับฤดูกาล การส่งออกหักทองคำขยายตัวที่ 5.7% เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้านี้ จากการฟื้นตัวของการบริโภครวมถึงการผลิตทั่วโลก สะท้อนจากดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตโลก (Manufacturing PMI) ยังคงอยู่ในระดับมากกว่า 50 อย่างต่อเนื่อง

ศูนย์ EIC คาดการณ์การส่งออกในปี 2021 ขยายตัว 16.3% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันในปี 63 แม้การส่งออกจะฟื้นตัวตามการขยายตัวของเศรษฐกิจและการค้าโลกจากสถานการณ์ COVID-19 ที่คลี่คลาย แต่ในช่วงสิ้นปีมีปัจจัยกดดันใหม่จากการระบาดที่เริ่มกลับมาในยุโรปและจากการระบาดของสายพันธุ์ Omicron รวมถึงปัญหาคอขวดด้านอุปทานของโลกที่ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อในหลายประเทศปรับตัวสูงขึ้นและกระทบต่อกําลังซื้อภาคประชาชน ส่งผลให้เศรษฐกิจและการค้าโลกอาจปรับชะลอลงได้ในระยะสั้น

การส่งออกไทยในปี 2022 ยังมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องตามการเติบโตของเศรษฐกิจและการค้าโลกแต่ในอัตราที่ชะลอลงหลังเศรษฐกิจโลกทยอยฟื้นตัวไปแล้วในช่วงก่อนหน้าโดย EIC ประเมินส่งออกเติบโตที่ 3.4% เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันในปีที่ผ่านมา

ทั้งนี้ ในปี 2022 การส่งออกของไทยยังต้องเผชิญกับหลายปัจจัยเสี่ยงที่ต้องจับตา โดยเฉพาะความกังวลต่อสถานการณ์การระบาดของ COVID-19 สายพันธุ์ Omicron รวมถึงอัตราเงินเฟ้อที่อาจปรับเพิ่มขึ้นหรือยืดเยื้อจากปัญหาคอขวดอุปทานการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนจากผลกระทบของวิกฤตพลังงานและภาคอสังหาริมทรัพย์และปัญหาขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์ (ชิป) ที่จะเป็นปัจจัยกดดันผู้ส่งออกในปีหน้า