สปสช.ชี้แจงแก้ปมทุจริตบัตรทอง กระทบประชาชน 800,000 คน

686
0
Share:

ภายหลังจากมีกระแสวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับการไปใช้บริการโรงพยาบาลหรือคลินิกหลายแห่งในพื้นที่ กทม.แต่กลับพบป้ายติดประกาศว่า มีการยกเลิกเครือข่ายบัตรทอง และเตรียมให้ผู้ป่วยไปรักษาตามสิทธิบัตรทองที่โรงพยาบาลอื่น
.
นพ.การุณย์ คุณติรานนท์ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เปิดเผยว่า ก่อนหน้านี้ สปสช.ได้ยกเลิกสัญญาคลินิกชุมชนอบอุ่น 18 แห่ง เมื่อวันที่ 19 ก.ค. 2563 เนื่องจากตรวจสอบพบทุจริต ส่งผลให้กระทบประชาชนจำนวน 200,000 คน ในการดำเนินการระยะถัดไปจึงต้องการดำเนินการให้รอบคอบ แต่ สปสช.มีความจำเป็นต้องขยายผลหลังพบการทุจริต จนพบอีก 66 คลินิกมีข้อสงสัย และได้ดำเนินคดีไปแล้วเมื่อวันที่ 29 ก.ค.2563
.
ดังนั้นในวันนี้เป็นวันที่มีผลในการบอกเลิกสัญญาคลินิกและโรงพยาบาล และยกเลิกความเป็นหน่วยบริการ ซึ่งจะกระทบประชาชนประมาณ 800,000 คน
.
โดยสปสช.มีความจำเป็นจริงๆ ที่จะต้องบอกเลิกสัญญากับคลินิกและโรงพยาบาลเหล่านี้ เนื่องจากพบประชาชนถูกสวมสิทธิ โดยประชาชนกลุ่มนี้จะไม่ได้มีโอกาสคัดกรองความเสี่ยงโรคเบาหวาน และความดัน ทำให้ไม่รู้ตัวว่ามีโรคประจำตัวหรือไม่ และไม่ได้เข้ารับการรักษา งบประมาณที่ถูกทุจริตก็เป็นงบประมาณของประเทศและมาจากภาษีประชาชน สปสช.จึงจำเป็นต้องดำเนินการ
.
พร้อมได้ประสานให้ กทม.ประสานหน่วยบริการในพื้นที่รองรับประชาชนทั้ง 800,000 คน ที่ได้รับผลกระทบ โดยทุกคนสามารถเข้ารับบริการที่โรงพยาบาลรัฐที่ใดก็ได้ใน กทม. หรือโรงพยาบาลและคลินิกที่เป็นคู่สัญญากับ สปสช. กรณีผู้ป่วยโรคเรื้อรัง หากต้องการข้อมูลยาหรือผลเลือดครั้งก่อนๆ กทม.ได้เตรียมการไว้รองรับแล้ว โดยประชาชนสามารถขอข้อมูลจากคลินิกที่รักษาได้ หรือขอรับข้อมูลได้ที่ศูนย์บริการสาธารณสุขในพื้นที่ กทม.
.
ที่สำคัญได้เร่งหาผู้ประกอบการรายใหม่เข้ามาทดแทน เนื่องจากหน่วยบริการสุขภาพของภาครัฐต้องรองรับประชาชนกว่า 4 ล้านคน อาจทำให้เกิดความแออัดและได้รับการดูแลไม่ทั่วถึง ซึ่งผู้ประกอบการหลายรายอยู่ระหว่างขึ้นทะเบียน โดย สปสช.อำนวยความสะดวกให้ ปรับเกณฑ์ให้ง่ายขึ้นเพื่อเข้ามาดำเนินการ
.
ด้าน ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ระบุว่า สำหรับประชาชนที่เคยไปคลินิกไหน แล้วกลายเป็นคลินิกที่ไม่ได้เป็นหน่วยบริการคู่สัญญากับ สปสช.แล้ว สปสช.ได้แบ่งผู้ป่วยออกเป็น 4 กลุ่มเร่งด่วน ดังนี้
.
1)ผู้ป่วยคลินิกชุมนุม กลุ่มโรงพยาบาลรับส่งต่อ ซึ่งโรงพยาบาลนัดผ่าตัดแล้ว สปสช. และ กทม.ได้ติดต่อขอรายชื่อรวมถึงประสานเตรียมโรงพยาบาลรองรับการรักษาต่อเนื่องไว้แล้ว
2)ผู้ป่วยในโรงพยาบาล
3)หญิงตั้งครรภ์ ซึ่งนัดวันผ่าตัดหรือคลอดไว้แล้ว
4)ผู้ป่วยที่ต้องฟอกไตต่อเนื่อง
.
ทั้ง 4 กลุ่มถือเป็นผู้ป่วยเร่งด่วน สปสช.ได้ติดต่อไปแล้วบางส่วน หากใครยังไม่ได้รับการติดต่อ สามารถโทรมาได้ที่สายด่วน 1330 ตลอด 24 ชั่วโมง

.