สรท.ชี้ส่งออกไทยเริ่มปรับตัวดีขึ้น ลุ้นกลับมาติดลบแค่ 8%

808
0
Share:

น.ส.กัณญภัค ตันติพิพัฒนพงศ์ ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) เปิดเผยว่า การส่งออกเดือนส.ค. 2563 มีมูลค่า 20,212 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลง 7.94% เทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ส่วนการนำเข้าในเดือนส.ค. 2563 มีมูลค่า 15,862 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลง19.68 % ส่งผลให้ไทยเกินดุลการค้า 4,349 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่ภาพรวม 8 เดือน ไทยส่งออกรวมมูลค่า 153,374 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลง 7.75% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
.
การส่งออกในเดือนส.ค. กลุ่มสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร ลดลง 13.2% เทียบกับช่วงเวลาเดียวกันปีก่อน โดยสินค้าที่ขยายตัวได้ดีอยู่ คือ น้ำมันปาล์ม สุกรสดแช่เย็นแช่แข็ง อาหารสัตว์เลี้ยง ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง แต่สินค้ากลุ่มที่หดตัวคือ น้ำตาลทราย ยางพารา ผักผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็ง กระป๋อง และแปรรูป ข้าว
.
โดยได้ปรับคาดการณ์การส่งออกไทยในปี 2563 ติดลบ 8-10 % จากเดิมที่คาดว่าจะติดลบ 10 % โดยปัจจัยบวกที่สำคัญ คือ อุปสงค์ทั่วโลกเริ่มกลับมาฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป เห็นได้จากตัวเลขดัชนีทางเศรษฐกิจในหลายส่วนเริ่มมีแนวโน้มกลับมาขยายตัวได้เล็กน้อย อาทิ ดัชนีผู้จัดการฝ่ายผลิตในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วมีค่าเกิน 50 (ขยายตัวสูงสุดตั้งแต่เดือนพ.ย. 2562) ที่แสดงถึงการฟื้นตัวของกิจกรรมการผลิต
.
โดยปัจจัยเสี่ยงที่เป็นอุปสรรคสำคัญ ได้แก่ 1.กำลังซื้อของผู้บริโภคทั่วโลกที่ยังมีความอ่อนแอ เนื่องด้วยสภาพเศรษฐกิจทั่วโลกที่ตกต่ำในปัจจุบัน กระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจและกำลังซื้อของผู้บริโภคหดตัว 2.ค่าเงินบาทที่ยังคงอยู่ในระดับที่แข็งค่าอย่างต่อเนื่อง
.
3.International logistics พบว่าค่าระวางสูง โดยเฉพาะในเส้นทางทรานส์แปซิฟิกและเส้นทางออสเตรเลีย อันเป็นผลต่อเนื่องมาจากหลายสายเรือเริ่มมี space ไม่เพียงพอ ทำให้ไม่สามารถรับ booking ได้และต้องมีการปิดรับชั่วคราว รวมถึงการขาดแคลนตู้บรรจุสินค้า
.
4.ปัญหาภัยแล้ง เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ รวมถึงเขื่อนบางพระทางตะวันออก มีปริมาณน้ำการได้จริงในระดับต่ำ และ 5. ปัญหาการขาดแคลนแรงงานต่างด้าว
.
โดยมีข้อเสนอแนะไปยังรัฐบาล เพื่อดูแลเศรษฐกิจดังนี้ 1.รักษาเสถียรภาพของอัตราแลกเปลี่ยนให้อยู่ในระดับ 34 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ หรือไม่แข็งค่ากว่าสกุลอื่นในระดับภูมิภาค 2.แก้ไขปัญหาแรงงานต่างด้าวไม่เพียงพอ ไม่สามารถเดินทางเข้าประเทศไทยได้ 3.เร่งแก้ไขปัญหาการปรับเพิ่มของอัตราค่าระวางและค่าบริการภายในประเทศ ให้เหมาะสม 4.แก้ปัญหาปริมาณระวางเรือและตู้บรรจุสินค้าไม่เพียงพอต่อความต้องการ