สศค. เผยหนี้ครัวเรือนไทยพุ่ง 89.3 % ชี้ไม่น่ากังวลหลังส่วนใหญ่เป็นหนี้เพื่อการลงทุน

394
0
Share:
หนี้ครัวเรือน

นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.) ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยถึงสถานการณ์หนี้ครัวเรือนไทยในขณะนี้ว่า ตัวเลขหนี้ครัวเรือนปัจจุบันพุ่งสูงกว่า 89.3% ต่อจีดีพี เนื่องจากตัวเลขจีดีพีที่ยังขยายตัวหรือโตได้ในอัตราต่ำ ทำให้เมื่อนำมาคำนวณตัวเลขหนี้ครัวเรือนแล้ว จึงออกมาสูง

หากดูรายละเอียดจะพบว่า 34.5% เป็นหนี้การจากซื้ออสังหาริมทรัพย์ ขณะที่ 12.4% เป็นหนี้จากการซื้อรถยนต์ รถจักรยานยนต์ ซึ่งสามารถนำไปต่อยอดอาชีพได้ และอีก 20% เป็นหนี้เพื่อการประกอบอาชีพโดยตรง ดังนั้นหนี้ในส่วนนี้เมื่อรวมกันแล้วกว่า 65% จึงเป็นหนี้ที่ก่อขึ้นเพื่อการลงทุน เป็นการต่อยอดสร้างรายได้ และหนี้เพื่อสะสมทรัพย์สิน ดังนั้น ตัวเลขหนี้ครัวเรือนในปัจจุบันจึงยังไม่น่ากังวล ขณะเดียวกัน ตัวเลขหนี้เสียของสถาบันการเงิน ยังทรงตัวอยู่ในระดับ 2.8-2.9%

โดยหลักการ ใครที่มีหนี้ ก็น่าเป็นห่วงทั้งนั้น เพียงแต่ถ้าไปดูไส้ในก็เป็นหนี้ที่ก่อขึ้นมาเพื่อก่อให้เกิดรายได้ และเพื่อสะสมทรัพย์ จึงไม่น่ากังวล แต่หนี้เพื่อการบริโภค อาจต้องมาดูว่าจะทำอย่างไร ให้มีรายได้เพื่อชำระหนี้ คิดว่าเรื่องนี้ เป็นเรื่องที่สภาพัฒน์เป็นห่วงมากกว่า สำหรับกรณีสภาพัฒน์แถลงจีดีพีปี 64 ขยายตัวที่ 1.6% นั้น เป็นเพราะได้รับอานิสงส์จากไตรมาสที่ 4 ในภาคการบริโภคของภาคเอกชนกลับมาขยายตัวได้ดีขึ้น ขณะเดียวกันการเบิกจ่ายการลงทุนภาครัฐก็ดีขึ้นมากกว่าที่คาดการณ์ จึงเป็นไตรมาสที่เศรษฐกิจขยายตัวได้ดีกว่าที่ประเมิน โดยขยายตัวได้ถึง 1.9% ทำให้ทั้งปีสามารถขยายตัวได้ในระดับดังกล่าว

นอกจากนี้ตัวเลขดังกล่าว ยังสะท้อนถึงการรับมือสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ได้อย่างดี และรัฐบาลมีการใช้เงินกู้ได้อย่างเกิดประโยชน์สูงสุดในการดูแลภาคส่วนต่างๆ จึงส่งผลให้การขยายตัวเศรษฐกิจดีกว่าที่คาด ซึ่งสภาพัฒน์ กระทรวงการคลัง ได้คาดการณ์จีดีพีปี 64 จะขยายตัวได้เพียง 1.2% ในขณะที่แบงก์ชาติก็คาดว่าจะขยายตัวได้เพียง 1% กว่า