ส่งออกวูบ! พาณิชย์ เผยส่งออก เดือนตุลาคม 65 หดตัว 4.4% ครั้งแรกในรอบ 19 เดือน

268
0
Share:
ส่งออกวูบ! พาณิชย์ เผย ส่งออก เดือนตุลาคม 65 หดตัว 4.4% ครั้งแรกในรอบ 19 เดือน

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า การส่งออกของไทยในเดือนตุลาคม 2565 พบว่ามีมูลค่า 21,772.4 ล้านเหรียญสหรัฐ หดตัว 4.4% หากหักสินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ทองคำ และยุทธปัจจัย หดตัว 2.8% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเป็นการหดตัวครั้งแรกในรอบ 19 เดือน ตั้งแต่กุมภาพันธ์ 2564 ที่หดตัว 2.8% แต่ในระยะ 10 เดือนแรก ยังขยายตัวได้ที่ 9.1% และเมื่อหักสินค้าเกี่ยวเนื่องกับนามัน ทองคำ และ ยุทธปัจจัย ขยายตัว 7.4%

ขณะที่การนำเข้า มีมูลค่า 22,368.8 ล้านเหรียญสหรัฐ หดตัว 2.1% ส่งผลให้ไทย ขาดดุลการค้า 596.4 ล้านเหรียญสหรัฐ ขณะที่ภาพรวม 10 เดือนแรกของปี 2565 (มกราคม – ตุลาคม) การส่งออก มีมูลค่า 243,138.5 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 9.1% การนำเข้า มีมูลค่า 258,719.8 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 18.3% ส่งผลให้ไทยขาดดุลการค้า 15,581.3 ล้านเหรียญสหรัฐ

โดยสาเหตุที่การส่งออกหดตัวเป็นผลมาจากเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าชะลอตัวลง จากการใช้นโยบายการเงินที่ตึงตัวเพื่อควบคุมอัตราเงินเฟ้อ ส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อและกิจกรรมทางเศรษฐกิจของผู้บริโภค และตลาดจีน ที่ยังคงใช้มาตรการโควิดเป็นศูนย์ เพื่อควบคุมการระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้การส่งออกสินค้าในหลายหมวด ชะลอตัวลง รวมไปถึงแรงเสียดทานจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก จึงคาดว่าจะมีแนวโน้มกระทบถึงปี 2566

อย่างไรก็ดี การส่งออกยังมีปัจจัยบวกจากภาวะเงินบาทอ่อนค่า และค่าระวางเรือที่เริ่มปรับเข้าสู่สมดุล ขณะที่การส่งออก 2 เดือนยังไม่สามารถประเมินได้ว่าการส่งออก จะหดตัวหรือไม่ แต่เชื่อว่าการส่งออกทั้งปี 2565 จะขยายตัวได้เกินเป้าหมายที่ตั้งไว้ 4% ซึ่งเชื่อว่าจะขยายตัวเพิ่มขึ้นเกือบหนึ่งเท่าตัว ทั้งการขยายตัวและมูลค่าการส่งออก

ทั้งนี้กระทรวงพาณิชย์ ประเมินว่าการส่งออกของไทยยังสามารถบรรลุกรอบ เป้าหมายที่วางไว้ โดยมีปัจจัยหนุนจากต้นทุนด้านพลังงานที่เริ่มลดลง ค่าระวางเรือขนส่งสินค้าที่เข้าสู่สมดุล อุปทานชิปประมวลผลที่มีมากขึ้นเพียงพอต่อการผลิตสินค้าเทคโนโลยีเพื่อการส่งออก การขยายตัวของ นักท่องเที่ยวต่างชาติในไทยที่ส่งผลดีต่อมูลค่าการส่งออกสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยว และเงินบาทที่ยังอ่อนค่า เมื่อเทียบกับคู่ค้าหลักของไทย อย่างไรก็ตามยังมีปัจจัยเสี่ยงจากการหดตัวของอุปสงค์ในคู่ค้าสาคัญ ความไม่แน่นอน ที่เกิดจากนโยบายการค้าของสหรัฐฯ และจีน รวมไปถึงความไม่สงบในยูเครนที่ยังคงอยู่ เป็นปัจจัยเฝ้าระวังที่ กระทรวงพาณิชย์ต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด