ส.อ.ท. ชี้ยังไม่ถึงเวลาขึ้นค่าแรง ปรับเร็วอุตสาหกรรมกว่า 50% ได้รับผลกระทบแน่

219
0
Share:
ส.อ.ท. ชี้ยังไม่ถึงเวลา ขึ้นค่าแรง ปรับเร็วอุตสาหกรรมกว่า 50% ได้รับผลกระทบแน่

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า นโยบายการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ที่ประชุมกกร. เห็นว่าเนื่องจากสภาพเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ประกอบกับต้นทุนการผลิตที่อยู่ในระดับสูง และผู้ประกอบการยังอยู่ในช่วงฟื้นตัว จึงควรพิจารณาปรับค่าจ้างขั้นต่ำให้สอดคล้องตามสภาพเศรษฐกิจในแต่ละพื้นที่ โดยใช้กลไกของคณะกรรมการค่าจ้างไตรภาคีของแต่ละจังหวัดเป็นหลัก รวมทั้งส่งเสริมให้เกิดการจ้างงานตามทักษะ (Pay by Skill) เพื่อเป็นการเพิ่มรายได้ให้กับแรงงานควบคู่ไปกับประสิทธิภาพแรงงาน (Productivity)

โดยขณะนี้หากมีการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ จะส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมประมาณ 50% จากภาพรวมทั้งหมด เนื่องจากมีบางอุตสาหกรรมที่ยังใช้แรงงานมนุษย์แบบหนาแน่นในการผลิต ทำให้หากขึ้นค่าแรงแล้วจะมีภาระต้นทุนแรงงานที่สูงมาก จนอาจปรับตัวไม่ทันได้ การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเร็วเกินไปจึงยังไม่ตอบโจทย์เท่าที่ควร

นายเกรียงไกร กล่าวว่า การตอบสนองของรัฐบาลในการออกมาตรการลดค่าครองชีพของประชาชนถือว่ารวดเร็วมาก ทั้งการลดค่าไฟฟ้าและราคาน้ำมัน ซึ่งสิ่งที่ต้องทำต่อจากนี้ คือ การลดค่าไฟในอัตราที่สามารถแข่งขันได้ โดยต้องอยู่ระหว่าง 2.70-3.30 บาทต่อหน่วย เพื่อให้ต้นทุนค่าไฟฟ้าสามารถแข่งขันกับเพื่อนบ้านได้ ส่วนที่ต้องทำเพิ่มเติมคือ การกระตุ้นกำลังซื้อของประชาชน ซึ่งมองว่าการแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาทต่อคน ถือว่าตอบโจทย์ แต่ต้องมีเงื่อนไขแจกให้กับผู้ที่มีความจำเป็นต้องได้รับจริงๆ

เนื่องจากมองว่าเงินดิจิทัลมีเงื่อนไขที่สามารถกำหนดได้ตอบโจทย์จุดประสงค์ที่รัฐบาลวางไว้ได้ อาทิ การกำหนดให้ซื้อสินค้าผลิตในประเทศไทยเป็นหลัก ทำให้รัฐบาลจะต้องทำควบคู่กันไประหว่างการลดภาระค่าครองชีพของประชาชนร่วมกับการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านมาตรการต่างๆ เพื่อให้เห็นผลในระยะยาวต่อไป

“การกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านแจกเงินจะต้องออกมาให้เร็วที่สุด เพราะงบประมาณประจำปี 2567 ล่าช้าออกไป จำเป็นต้องมีเม็ดเงินเข้ามาขับเคลื่อนให้เศรษฐกิจไปต่อได้ หลังเครื่องยนต์หายไป 1 ตัว เนื่องจากแม้มีการวัดภาวะเศรษฐกิจว่ายังเดินได้อยู่ ผ่านการรถติดมากขึ้น แต่ไม่ได้สะท้อนกำลังซื้อที่แท้จริงของประชาชนทุกพื้นที่ ซึ่งชะลอตัวลง” นายเกรียงไกร กล่าว

นายเกรียงไกร กล่าวว่า การปรับราคาน้ำตาลขึ้น ประเมินอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มที่ใช้น้ำตาลเป็นวัตถุดิบหลัก อาทิ ลูกอม น้ำอัดลม ทำให้มีผลกระทบสูง แต่ในอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มในภาพรวมไม่ได้มีผลกระทบมากนัก เนื่องจากต้องยอมรับว่า กลุ่มคนรุ่นใหม่ลดการบริโภคน้ำตาลลงมากขึ้น อยู่ในเทรนด์ของการดูแลสุขภาพ อีกทั้งในปัจจุบันยังมีสารให้ความหวานอื่นทดแทนน้ำตาลจำนวนหลายชนิดด้วย จึงมีผลกระทบในช่วงสั้นเท่านั้น