หมอธีระชี้มาตรการศบค.ไล่หลังยอดติดเชื้อ ไม่ทันโควิด-19 ระบาดขาขึ้นรอบ 5 ในไทย

734
0
Share:
โควิด

รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟสบุ๊กเกี่ยวกับมาตรการของศบค.ที่ประกาศเพื่อสกัดการระบาดของโรคโควิด-19 มีดังนี้

เห็นมาตรการแล้ว คงบรรเทาได้ไม่มาก และไม่น่าจะทันการระบาด

คาดว่าการตัดสินใจคงห่วงภาคเศรษฐกิจจะได้รับผลกระทบ

การเปิดเกาะเพิ่ม ก็เปรียบเหมือน relay station ที่เพิ่มขึ้นมา แต่ย่อมต้องแลกด้วยการยอมรับการเปลี่ยนของ epidemic landscape ระยะยาวในเกาะเหล่านั้นและพื้นที่ใกล้เคียง

ยิ่งไม่มีการห้ามเดินทางระหว่างจังหวัด นอกจากประเด็นเศรษฐกิจที่ต้องอาศัยระบบการขนส่งระหว่างจังหวัดเป็นเส้นเลือดใหญ่แล้ว น่าจะสะท้อนว่าลักษณะการระบาดกระจายไปมากและไปทั่ว การหยุดการเดินทางคงได้ประโยชน์น้อย

นอกจากนี้ การจำกัดกิจกรรมในชีวิตประจำวันนั้นออกแนวแทงกั๊ก มากกว่าที่จะเข้มข้น ดูจะเน้นโฟกัสเฉพาะการดื่มสุรา ซึ่งการจำกัดลักษณะนี้เป็นการวิ่งไล่ตามมากกว่าจะดักหน้า

สำหรับการให้ทำงานที่บ้านจนถึง 31 มกราคมนั้น คงได้ผลบ้างหากร่วมทำกันทุกฝ่ายอย่างพร้อมเพรียง ทั้งรัฐและเอกชน แต่หากกระเส็นกระสาย ก็คงช่วยไม่ได้เท่าใดนัก

ดังนั้น ทางที่จะเดินต่อจากนี้ไป หากเป็นไปตามธรรมชาติที่เห็นจากต่างประเทศ อาจต้องเตรียมรับมือเรื่องท้าทายต่อไปนี้

หนึ่ง การติดเชื้อมากขึ้นในครัวเรือน สถานที่ทำงาน รวมถึงโรงพยาบาล

สอง การขาดแคลนชุดตรวจคัดกรองโรค และการบริการที่ไม่เพียงพอต่อความต้องการ ไม่ทันเวลา และการไม่สามารถรู้สถานะการติดเชื้อของคนจำนวนมากยามระบาดเข้าสู่ระยะอัตราเร่ง

สาม การติดเชื้อมากในกลุ่มเปราะบางและกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ เด็กเล็กและเยาวชน ผู้สูงอายุ กลุ่มที่มีโรคประจำตัว และมีจำนวนคนป่วยมากขึ้น แม้จะป่วยรุนแรงและเสียชีวิตไม่มาก แต่จำนวนการติดเชื้อและป่วยมีอาการจะสูงขึ้นอย่างรวดเร็วได้

สี่ ความไม่แน่ใจ กังวล สับสนเกี่ยวกับอนาคตของคนในสังคม

หนทางจัดการที่เป็นไปได้…

เมื่อเลือกทางเดินลักษณะข้างต้น ก็ไม่จำเป็นต้องลังเล เพราะย้อนกลับไปไม่ได้แล้ว เหลือเพียงการเตรียมรับมือและประคับประคองให้ผ่านช่วงเวลา 4-8 สัปดาห์ถัดจากนี้ไปให้ได้

1. เตรียมเรื่อง community isolation ให้มากเท่าที่จะทำได้ เพื่อแยกกักตัวผู้ติดเชื้อ โดยจงคำนึงถึงว่า เมืองไทยเรานั้นโดยเฉพาะเขตเมือง การทำ Home isolation มีข้อจำกัดกว่าเมืองนอก และเสี่ยงต่อการระบาดในครัวเรือนมาก ดังที่เราได้ทราบจากข่าวหลายรายในช่วงสองวันนี้

2. เตรียมเตียงสำหรับเด็ก เยาวชน และกลุ่มเสี่ยง

3. รัฐควรจัดงบเพื่อจัดซื้อจัดหา ATK ให้แก่ประชาชนโดยไม่ต้องให้ดิ้นรนหาซื้อกันเอง เพราะปัญหาเศรษฐกิจระดับครัวเรือนก็มาก กำลังการซื้อลดน้อยถอยลง และเสี่ยงต่อการถูกโก่งราคา หรือหลอกขายของที่ไม่ได้คุณภาพ

4. ศธ.ควรประกาศให้เทอมสองเป็นการเรียนแบบออนไลน์ เพื่อให้ทุกฝ่ายไม่สับสนกังวลกับเรื่องการจัดรูปแบบการเรียนการสอน รวมถึงเงื่อนเวลาในการสอบประเมินผล

5. อุปกรณ์ป้องกันตัว หน้ากาก แอลกอฮอล์ ควรแจกจ่ายฟรี ทั่วทุกพื้นที่ อย่างเป็นกิจวัตร ทุกกิจการทุกหน่วยงาน ทั้งรัฐและเอกชน นี่เป็นการร่วมลงทุนไประยะยาวอย่างน้อย 3-6 เดือน ให้เป็นภาวะปกติใหม่ ไม่ใช่มีแค่เครื่องวัดอุณหภูมิที่ไม่ค่อยได้ประโยชน์

6. ถึงเวลาที่กิจการต่างๆ หันมารักตัวเองให้มากกว่าเรื่องกำไรจากการให้บริการค้าขายระยะสั้น การบริการค้าขายคงจะตะกุกตะกักดังที่เป็นมา หากปล่อยให้เกิดเหตุการณ์ปะทุซ้ำซาก ดังนั้นจึงควรใช้โอกาสนี้ทบทวนกิจการของตนเอง ว่าทำอย่างไรจะอยู่รอดปลอดภัยเวลาเปิดกิจการไปเรื่อยๆ เช่นนี้ คอยสำรวจดูว่าระบบที่เป็นอยู่ตอนนี้มีจุดอ่อนที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อในที่ทำงาน คนทำงาน และคนมาใช้บริการบ้างไหม และร่วมกันคิดว่าจะแก้ไข ปิดจุดอ่อนอย่างไรด้วยตัวของเราเอง หากทำได้เช่นนี้ ดีไม่ดี จะเยี่ยมกว่าการอ่านกฎระเบียบที่เขียนไว้แต่ปฏิบัติไม่ได้จริง

จงตระหนักว่า สุดท้ายแล้วเวลาวิกฤติขึ้นมา กิจการเราเองนั่นแหละที่จะถูกมองว่าเป็นต้นเหตุ และปฏิเสธได้ลำบาก สู้เราประเมินตนเอง ปรับตนเอง ด้วยเราเอง เราย่อมรู้ตัวเราดีที่สุด