หอการค้าไทยประเมินผู้บริโภคยังชะลอใช้จ่ายอีก 3 – 6 เดือน จีดีพีอาจติดลบถึง 10%

545
0
Share:

นายธนวรรธน์ พลวิชัย ประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผย ผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนมิ.ย. 2563 ว่า อยู่ที่ 49.2 เพิ่มขึ้นจาก 48.2 ในเดือนพ.ค.2563 เป็นการปรับตัวขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจโดยรวม อยู่ที่ 41.4 จาก 40.2 ในเดือนพ.ค. 2563
ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสหางานทำ อยู่ที่ 47.6 จาก 46.6 ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคตเท่ากับ 58.6 จาก 57.7
.
โดยปัจจัยบวกมาจากรัฐบาลมีมาตรการผ่อนปรนระยะที่ 3 และ 4 รวมถึงมาตรการเยียวยาผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 และคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.50%
.
ด้านที่ปัจจัยลบ มาจากความกังวลการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 , กนง.ปรับลดจีดีพี ปี 2563 เป็น -8.1% , รัฐบาลขยายเวลาการใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉิน, ราคาสินค้าเกษตรทรงตัวในระดับต่ำ , การส่งออกเดือนพ.ค. ติดลบ -22.5%, ความกังวลเกี่ยวกับสงครามการค้า, ราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศปรับตัวเพิ่มขึ้น รวมถึงค่าเงินบาทแข็งค่า และผู้บริโภคกังวลปัญหาเศรษฐกิจชะลอตัว
.
โดยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยรวมยังคงเคลื่อนไหวต่ำกว่าระดับ 100 แสดงให้เห็นว่าผู้บริโภคยังมองว่าสถานการณ์เศรษฐกิจโดยรวม น่าจะอยู่ในภาวะถดถอยจากวิกฤตโควิด-19 ทั่วโลก ส่งผลลบต่อกำลังซื้อภายในประเทศ การท่องเที่ยว การส่งออก ธุรกิจโดยทั่วไป และการจ้างงานในอนาคต
.
โดยคาดว่าผู้บริโภคยังคงชะลอการใช้จ่ายไปอย่างน้อยอีก 3-6 เดือนจากนี้ จนกว่าสถานการณ์โควิด-19 จะคลี่คลาย และมีการเปิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจและธุรกิจอย่างกว้างขวาง พร้อมกับการที่รัฐบาลออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างเป็นรูปธรรมชัดเจน
.
จากข้อมูลพบว่าประชาชนส่วนใหญ่ยังไม่มีการวางแผนการท่องเที่ยวในช่วงนี้ แต่จะเริ่มขึ้นในอีก 1 ปีข้างหน้า ซึ่งจะทำให้ในไตรมาส 3/2563 การจับจ่ายใช้เงินในเรื่องของการท่องเที่ยวอาจจะหายไป ดังนั้นรัฐบาลต้องมีมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวที่ตอบสนองหรือมีแรงจูงใจมากกว่านี้ รวมทั้งสร้างความเชื่อมั่นให้ประชาชนในเรื่องความปลอดภัยจากมาตรการควบ คุมการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด หากจะเริ่มเปิดให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาในประเทศไทย
.
นอกจากนี้หากรัฐบาลยังไม่สามารถออกมาตรการที่ให้เห็นผลอย่างเป็นรูปธรรมเพื่อให้เม็ด เงิน 4 แสนล้านบาทลงสู่ระบบเศรษฐกิจได้ภายในช่วง 3 เดือนนี้ เศรษฐกิจไทยจะชะลอตัวลึกต่อเนื่อง คนตกงานมากขึ้น กำลังซื้อหดหาย จะทำให้ประชาชนเริ่มเข้าสู่วงจรการก่อหนี้มากขึ้น ส่งผลถึงความสามารถในการจัดเก็บรายได้ของประเทศในปีงบประมาณ 2564
.
ส่วนเศรษฐกิจไทยในปีนี้จะหดตัวมากขึ้นเป็น -8 ถึง -10% จากเดิมที่เคยคาดการณ์ไว้ -3.5 ถึง -5% ส่วนการส่งออกไทยปีนี้คาดว่าจะหดตัวในระดับ -8 ถึง -10% โดยม.หอการค้าไทย จะแถลงปรับประมาณการเศรษฐกิจไทยในปี 2563 อย่างเป็นทางการ16 ก.ค.นี้