หอการค้าไทยประเมิน ไตรมาสแรกธุรกิจค้าปลีกเสียหาย 3-4 แสนล้านบาท

849
0
Share:

นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดี มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการ Modern Trade ประจำไตรมาสที่ 1 ปี 2563 อยู่ที่ 47.2 จากไตรมาส 4/2562 ที่อยู่ 51.1 โดยตัวเลขดังกล่าวต่ำกว่า 50 และ ลดลงต่ำสุดในรอบ 7 ไตรมาส หรือ ประมาณ 2 ปี สะท้อนว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส COVID – 19 , การประกาศ พรก. ฉุกเฉิน , การสั่งปิดกิจการชั่วคราว , มาตรการยกเลิกวีซ่า 18 ประเทศ ฟรีวีซ่า 3 ประเทศ, การประกาศยกเลิกเที่ยวบินชั่วคราวของสายการบินในไทย ส่งผลกระทบต่อการจับจ่ายใช้สอยของประชาชน
.
อย่างไรก็ตาม แนวโน้มดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการ Modern Trade ประจำไตรมาสที่ 2 ปี 2563 คาดว่า จะลดลงจากไตรมาส 1 เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดชัดเจนมากขึ้นในเดือนมี.ค. ซึ่งพบว่า รายได้ และ กำไร ของผู้ประกอบการลดลง แต่ต้นทุนการดำเนินงานจะลดลงก็ตามเช่นกัน แต่ไม่เพียงพอที่จะทำให้ธุรกิจมีกำไร โดยไตรมาส 3 ภาครัฐควรมีมาตรการกระตุ้นเพื่อทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัว

โดยเบื้องต้นยังไม่ได้ประเมินเฉพาะกลุ่ม แต่หากโดยรวมธุรกิจแล้วมูลค่าที่หายไป 1 ล้านล้านบาททั้งปี แต่เฉพาะไตรมาส 1 มูลค่า 3-4 แสนล้านบาท
.
ด้านนายสุรงค์ บูลกุล รองประธานกรรมการ หอการค้าไทย เปิดเผยว่า ขณะนี้กลุ่มผู้ประกอบการค้าปลีกมีความพร้อมที่จะเปิดให้บริการในทันที เพราะที่ผ่านมาไม่ได้มีการปลด หรือ เลิกจ้างพนักงาน แม้ว่ายอดขายจะลดลงก็ตาม โดยธุรกิจบางประเภทยอดขายออนไลน์เติบโตเพิ่มขึ้น 35% หลังพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม
.
ที่ผ่านมาการเคอร์ฟิวได้ผลดี ผู้ติดเชื้อจำนวนลดลง ควบคุมได้ดี จึงเห็นว่า ควรลดเคอร์ฟิวมากกว่าขยายออกไป เพราะถ้าประกาศยกเลิกได้ จะส่งผลสำคัญทางด้านจิตวิทยา
.
โดยข้อเสนอแนะที่ต้องการให้รัฐบาลเร่งแก้ไขปัญหา คือ การป้องกัน และ แก้ไขโควิด 19 และ การฟื้นเศรษฐกิจหลังจากนั้นทั้งระยะสั้นและระยะยาว , มาตรการเยียวยาระยะสั้น และ ระยะยาวผู้ประกอบการ ด้านวงเงินสนับสนุน หรือ มาตรการทางภาษีอากร , มาตรการกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศอย่างเร่งด่วน 1-3 เดือนต่อเนื่อง
.
รวมถึงเร่งแก้ไขปัญหาการว่างงาน ปัญหารายได้ลดลงของภาคประชากร และ เอกชนที่เป็นกลุ่มหลักของประเทศ , การจ้างแรงงานต่างด้าว , เร่งมาตรการผ่อนคลายการเปิดกิจการ เพื่อบรรเทาผลกระทบ และ นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจระดับมหภาคให้เกิดรูปธรรมที่ชัดเจน